สพฐ. เผยผลสอบภาค ก ตำแหน่ง ผอ.- รอง ผอ. สถานศึกษาได้ไม่ถึงเป้า ในส่วนของ ผอ. ยังขาดอีก 605 ตำแหน่ง จ่อเปิดสอบรองสอง ก.ค.- ก.ย. นี้ ขณะที่ยอมสมัครสอบครูผู้ช่วย ว 16, ว 17 อยู่ที่ 26,684 ราย สอบภาค ก และ ข วางมาตรการคุมเข้มทั้งตรวจร่างกายและพิมพ์ลายนิ้วมือผู้เข้าสอบทั้งชาย - หญิง
วันนี้ (24 ก.พ.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยจัดสอบ ภาค ก ความรู้ทั่วไปและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน และความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ และภาค ค สอบสัมภาษณ์ ไปเมื่อวันที่ 14 - 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดย สพฐ. มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อสอบนั้น ผลปรากฏว่า มีผู้สอบผ่านภาค ก ไม่ครบตามจำนวนตำแหน่งที่เปิดรับไว้ทั้งหมด 4,257 ตำแหน่ง แบ่งเป็น รองผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 1,353 ตำแหน่ง มีผู้เข้ารับการสอบคัดเลือก 6,129 ราย ผ่านการสอบภาค ก จำนวน 1,518 ราย ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษานั้น เปิดรับจำนวน 2,904 ตำแหน่ง มีเข้าสอบคัดเลือก 15,834 ราย สอบภาค ก ผ่านเพียง 2,299 ราย ยังขาดอีกถึง 605 ตำแหน่ง รวมทั้งหมดแล้ว มีผู้สอบผ่าน ภาค ก 3,817 ราย คิดเป็น 17.38% จากจำนวนผู้เข้าสอบทั้งหมด 21,963 ราย
“สพฐ. ตั้งเป้าว่าจะมีผู้ผ่านการคัดเลือกภาค ก ประมาณ 20% ของจำนวนผู้เข้าสอบทั้งหมด แต่สอบผ่านได้แค่นี้ก็ถือว่าน่าพอใจ ส่วนที่เหลือก็จะมีการเปิดสอบใหม่อาจจะเป็นช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน โดยขณะนี้ มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจำนวน 42 แห่ง ที่ประกาศขึ้นบัญชีรายชื่อและเตรียมบรรจุแล้ว ส่วนที่เหลือจะทยอยประกาศต่อไปซึ่ง สพฐ. กำหนดให้ประกาศให้แล้วเสร็จภายใน 28 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งผู้ที่ได้ขึ้นบัญชีน่าจะได้รับการบรรจุครบทุกคนเพราะบัญชีมีอายุถึง 2 ปี” นายกมล กล่าว
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สพฐ. จะเตรียมสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยกรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ว 16, ว 17 ใน 225 เขตพื้นที่การศึกษาและ 1 สำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) แยกเป็นกลุ่มวิชา จำนวน 66 กลุ่ม เปิดรับสมัครมาตั้งแต่ 16 - 22 กุมภาพันธ์ ปรากฏว่า มีผู้สมัครทั้งสิ้น 26,684 ราย และจะมีการจะจัดสอบภาค ก และภาค ข ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคมนี้ อย่างไรก็ตาม การสอบครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษ ไม่ได้เปิดสอบทั่วไปแต่เปิดให้ลูกจ้างประจำของแต่ละเขตพื้นที่มาสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วย โดยทางคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้มีมติให้เขตพื้นที่ เป็นผู้จัดสอบและออกข้อสอบเอง ตั้งแต่ข้อสอบภาค ก ภาค ข และภาค ค หรือการสอบสัมภาษณ์ แต่ สพฐ. จะลงไปกำกับดูแลอย่างเข้มข้น โดยส่งคนลงไปกำกับดูแลในทุกเขตพื้นที่ฯ และมีมาตรการป้องกันการทุจริตต่างๆ อาทิเช่น มีการให้ตำรวจชาย - หญิง ตรวจร่างกายผู้เข้าสอบก่อนเข้าห้องสอบ หรือให้พิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อตรวจสอบว่ามีการปลอมตัวเข้าสอบแทนหรือไม่
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 กุมภาพันธ์ 2558