ดร.อำนาจ สุนทรธรรม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ในเดือนมีนาคมนี้ จะมีการรับสมัครสอบบรรจุข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย และเอกสารสำคัญที่จะต้องใช้ประกอบการสมัครสอบ ก็คือ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตอื่นที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติการสอน สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาจึงขอถือโอกาสนี้ ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสาร ที่คุรุสภาออกให้เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงสิทธิในการประกอบวิชาชีพครูได้ เพื่อความเข้าใจสำหรับผู้ที่ต้องการนำไปเป็นหลักฐานในการสมัครสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู 4 ฉบับ ดังนี้
1) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
2) หนังสือรับรองสิทธิ
3) ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน
4) หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพ
ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู คือ หลักฐานที่คุรุสภาออกให้แก่ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่คุรุสภากำหนด ดังนี้
1) มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์
2) มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง และ
3) ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และ ผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด โดยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมีอายุ 5 ปี
หนังสือรับรองสิทธิ คือ หลักฐานที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาออกให้แก่ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ที่มีคุณสมบัติ ครบถ้วน เพื่อเป็นหลักฐานแสดงสิทธิในการประกอบวิชาชีพครู ระหว่างรอ การอนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ โดยหนังสือรับรองสิทธิมีอายุ 60 วัน
ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน คือ หลักฐานที่คุรุสภาออกให้ผู้ที่มีเฉพาะความรู้วิชาชีพครูตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนด แต่ยังขาดประสบการณ์การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา เพื่อให้ผู้ถือใช้เป็นหลักฐานในการประกอบวิชาชีพครูได้ โดยอยู่ในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา (ผู้บริหารสถานศึกษา) และเมื่อปฏิบัติการสอนต่อเนื่อง เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี สามารถนำผลการประเมินการปฏิบัติการสอนจากสถานศึกษาประกอบกับใบอนุญาตปฏิบัติการสอนมาขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยใบอนุญาตปฏิบัติการสอนมีอายุ 2 ปี
หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แบ่งเป็น 2 กรณี คือ
1) หนังสืออนุญาตให้ปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพ โดยสถานศึกษาหรือหน่วยงานจะต้องเป็นผู้ขอให้คุรุสภาออกหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งจะต้องระบุเหตุผล ความจำเป็นในการขออนุญาตดังกล่าว โดยคุรุสภาจะพิจารณาอนุญาตจากคุณวุฒิ เหตุผล และความจำเป็น หนังสือ อนุญาตนี้มีอายุใช้ได้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ คุรุสภากำหนด เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพต่อไป และหากผู้ได้ รับอนุญาตลาออกจากสถานศึกษาที่ขออนุญาตถือว่า ยกเลิกเนื่องจากเป็นการอนุญาตให้สอนเฉพาะในสถานศึกษาที่ขออนุญาตเท่านั้น
2) หนังสืออนุญาตให้ปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพ สาขาขาดแคลน ตามประกาศคณะกรรมการคุรุสภา ประกาศ ณ วันที่ 9 มกราคม 2558 สาขาขาดแคลนด้านอาชีวศึกษา จำนวน 98 สาขาวิชา และสาขาขาดแคลนด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 10 สาขาวิชา หนังสืออนุญาตมีอายุ 90 วัน (สามารถตรวจสอบสาขาวิชาได้ทางเว็บไซต์ของคุรุสภา www.ksp.or.th)
คุรุสภาได้กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีวุฒิในสาขาขาดแคลน ที่จะประกอบวิชาชีพครู โดยกำหนด "สาขาวิชาขาดแคลน" ต้องเป็นสาขา วิชาที่ไม่มีการผลิตในสถาบันผลิตครู หลักสูตร 5 ปี ที่คุรุสภาให้การรับรอง หรือมีการผลิตในสถาบันผลิตครู หลักสูตร 5 ปี ที่คุรุสภาให้การรับรอง แต่ประกาศรับสมัครแล้ว ไม่มีผู้มาสมัครตามเวลาที่กำหนด และกำหนดมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว ดังนี้
-
มาตรการเร่งด่วน โดยคณะกรรมการคุรุสภาจะพิจารณาให้ความ เห็นชอบสาขาวิชาขาดแคลนตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเสนอและประกาศกำหนดเป็นคราวๆ คราวละ 2 ปี จากนั้น จะอนุมัติเป็นหลักการ ให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาออกหนังสืออนุญาตให้ปฏิบัติ การสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีระยะเวลา 90 วัน โดยให้ สามารถขอยื่นได้ด้วยตนเองหรือสถานศึกษาเป็นผู้ขอยื่นให้ เพื่อให้ผู้ที่มีวุฒิในสาขาขาดแคลนดังกล่าวใช้เป็นเอกสารในการสมัครสอบบรรจุเข้าเป็นครู
-
มาตรการระยะยาว
1) ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาประสานกับสถาบันผลิตเพื่อเปิดสอนในสาขาขาดแคลน ตามความต้องการของหน่วยงานผู้ใช้
2) จัดโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษากับสถาบันผลิต เพื่อร่วมผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาที่ขาดแคลน หลักสูตร 4 ปี ต่อยอดด้วยหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูที่คุรุสภารับรอง เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถขอรับใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพครูได้
สำหรับสาขาขาดแคลนด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ดำเนินการ เช่นเดียวกับสาขาขาดแคลนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 26 ก.พ. 2558 (กรอบบ่าย)