เมื่อเวลา13.00 น. วันนี้ (24ก.พ.) สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.)ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอถอนตัวออกจากคณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือกโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนชุมชนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และคณะทำงานพัฒนาการศึกษาทางเลือกในสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดย นายเทวินทร์ อัครศิลาชัย รองเลขาธิการ สกล.กล่าวว่า ตามที่ สกล.ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายการศึกษาทางเลือกในประเทศไทย ที่มีสมาชิกเป็นองค์กรจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วนกว่า 400 องค์กร ที่ร่วมแก้ปัญหาเรื่องสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยครอบครัวศูนย์การเรียน โดยบุคคลองค์กรชุมชน และเอกชน รวมถึงร่วมแก้ปัญหาและพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 โรงทั่วประเทศ ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ร่วมเป็นคณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือกฯ ศธ. ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 แต่ตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมาปรากฏว่า สพฐ.ไม่สนใจการมีส่วนร่วมของตัวแทนภาคประชาชนเลย รวมถึงไม่เอาใจใส่กับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แม้แต่คณะทำงานพัฒนาการศึกษาทางเลือกของ สกศ. ก็ไม่สามารถผลักดันให้ สพฐ.ทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษาทางเลือกได้ด้วยความรับผิดชอบอย่างจริงใจ
นายเทวินทร์ กล่าวต่อไปว่า จากสภาพปัญหาดังกล่าว สกล.เห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะทำงานร่วมกับคณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือกฯศธ. และคณะทำงานพัฒนาการศึกษาทางเลือกของ สกศ. ได้จึงขอถอนตัวออกจากคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดดังกล่าว พร้อมขอเสนอให้มีคณะกรรมการการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการศึกษากำลังผลักดัน อย่างไรก็ตาม สกล.จะเคลื่อนไหวแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับการจัดการศึกษา โดยครอบครัวและศูนย์การเรียนในทุกกระบวนการ ทั้งนี้ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา สั่งการให้หน่วยงานราชการเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหากับสกล.
นายศีลวัต ศุษิลวรณ์ กรรมการ สกล.กล่าวว่า ที่ผ่านมา สกล.ได้ประชุมร่วมกับ สพฐ.และกำหนดเป็นนโยบายและแผนงานการศึกษาทางเลือกเรียบร้อยแล้วแต่ สพฐ. ก็ยังไม่ได้ประกาศนโยบายและแผนงานการศึกษาทางเลือก แต่ล่าสุดคณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือกฯศธ. กลับมีโครงการและแผนงบประมาณออกมา สกล. จึงไม่ต้องการเป็นผู้ร่วมรับรองโครงการเหล่านั้น นอกจากนี้ที่ผ่านยังมีปัญหาความไม่ต่อเนื่อง และไม่เข้าใจตั้งแต่เลขาธิการ กพฐ. จนถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ดังนั้นหากมีคณะกรรมการการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ ก็ขอให้มีหน่วยงานที่จะดูแลการศึกษาทางเลือกโดยเฉพาะ รวมทั้งขอเรียกร้องให้ สปช. ซึ่งกำลังดูแลการปฏิรูปการศึกษาของชาติช่วยออกแบบระบบให้การศึกษาทางเลือกสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้
ที่มา เดลินิวส์ วันอังคาร 24 กุมภาพันธ์ 2558