ทปอ.ขวาง ศธ.ลดวิชาสอบโอเน็ตในปี 58
ต้องการปกป้องเด็ก 3 แสนคนที่กำลังสอบแอดมิชชั่น ชี้แต่ถ้าต้องลดวิชาสอบจริงๆ ควรให้เด็กเตรียมตัวล่วงหน้า 3 ปี ระบุ 8 วิชาที่สอบเหมาะสมดีแล้ว เพราะเนื้อหาครอบคลุมวิชาในท้องถิ่นด้วย มอบ มศว ทำวิจัย หาข้อสรุปการใช้คะแนนโอเน็ต
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมีการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุรนารี ในฐานะประธาน ทปอ. (ประธาน ทปอ.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มีคำสั่งให้พิจารณาลดจำนวนกลุ่มสาระที่จะใช้ในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต จาก 8 กลุ่มสาระวิชา เหลือเพียง 5 กลุ่มสาระวิชา ส่วนที่เหลืออีก 3 กลุ่มสาระวิชา จะให้โรงเรียนเป็นผู้จัดสอบเอง ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเหตุผลที่ สทศ.เสนอ โดยเห็นว่าอาจจะเป็นเพราะการวัดผลในบางกลุ่มสาระวิชาไม่ตรงตามการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับท้องถิ่น ซึ่งประเด็นนี้ ทปอ.เห็นว่าเนื้อหาการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา ครอบคลุมทั้งระดับท้องถิ่น ไปจนถึงระดับสากลแล้ว ดังนั้น หากลดจำนวนการสอบลงเหลือ 5 กลุ่มสาระวิชา ก็จะมีผลกระทบกับการประเมินในภาพรวม รวมทั้งปัจจุบัน ทปอ.ใช้คะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรหรือ GPAX ซึ่งเป็นผลประเมินของทางโรงเรียนมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือแอดมิชชั่นอยู่แล้ว และในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็มีนโยบายใช้คะแนนโอเน็ตไปเป็นส่วนหนึ่งในการจบช่วงชั้นด้วย
นายประสาทกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ทปอ.ได้มีมติว่าในปี 2558 นี้ควรที่จะใช้เกณฑ์เดิมไปก่อน เพราะการลดกลุ่มสาระในทันทีนั้นอาจจะทำให้เกิดผลกระทบได้กับเด็กที่กำลังจะสอบแอดมิชชั่น จำนวนกว่า 3 แสนคน โดยจากนี้ ทปอ.จะทำหนังสือถึง พล.ร.อ.ณรงค์ เพื่อชี้แจงเหตุผลดังกล่าว ส่วนปีต่อไปจะมีการปรับองค์ประกอบการเข้าเรียนต่อหรือไม่ และทาง ทปอ.เองก็ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ทำงานวิจัยประเมินถึงความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนโอเน็ตว่าส่งผลต่อความประสบความสำเร็จในระดับอุดมศึกษาอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 9 เดือนข้างหน้า และจะมีการนำผลวิจัยดังกล่าวมาพิจารณาถึงการวางแนวทางมาตรการหากในอนาคตมีข้อสอบที่สามารถนำมาใช้วัดเชาว์ปัญญาของเด็กได้ และโอเน็ตไม่มีผลต่อการจบการศึกษาในมหาวิทยาลัย ก็อาจจะไม่ต้องใช้โอเน็ตในการคัดเลือกอีกต่อไป แต่หากจะปรับเปลี่ยนอะไรก็ตามก็จะต้องประกาศล่วงหน้า 3 ปี
“นอกจากนี้ ทปอ.ยังได้หารือกันถึงกรณีที่ทางกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ปรับหลักเกณฑ์ผู้กู้ยืม โดยกำหนดเกณฑ์ว่าผู้ที่จะยื่นกู้ในระดับปริญญาตรีทั้งผู้กู้รายเก่าและรายใหม่ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า2.00 ซึ่งจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2558 ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมและตัดอนาคตของนิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 2-3 ที่อาจจะถูกรีไทน์ ซึ่งการถูกรีไทน์จะทำให้เกิดการสูญเสียเงินของผู้ปกครอง 30% และรัฐบาล 70% ดังนั้น ทปอ.จึงมีมติที่จะทำหนังสือถึง กยศ. ขอให้ทบทวนหลักเกณฑ์ดังกล่าวโดยให้นำไปใช้กับนิสิตนักศึกษาที่กำลังจะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ไม่ให้ใช้กับนักศึกษาทั้งหมด” ประธาน ทปอ.กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558