สุพัด ทีปะลา
teepala@hotmail.com
แม้การสอบคัดเลือกแต่งตั้งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) วันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะตรวจพบผู้ส่อทุจริตเพียง 3 ราย จากกรณีที่นำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบที่สนามสอบโรงเรียนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ และกรณีนำตำราหรือเอกสารเข้าห้องสอบที่สนามสอบต่างจังหวัด รายสุดท้ายมีการจดคำตอบใส่มือเข้าสอบที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) หนองบัวลำภู เขต 1
ในขณะที่ นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ นางรัตนา ศรีเหรัญ รองเลขาธิการ กพฐ. พอใจผลการดำเนินการสอบคัดเลือกพร้อมให้สัมภาษณ์สรุปภาพรวมว่า "การจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่พบกรณีการทุจริตที่กระทบต่อระบบการจัดสอบในภาพรวม และปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องเชิงธุรการ อาทิ จำนวนข้อสอบที่เขียนไว้หน้าซองไม่ตรงกับจำนวนผู้เข้าสอบ และการสอบครั้งนี้ สพฐ.ไม่ค่อยหนักใจ เพราะผู้เข้าสอบเป็นข้าราชการอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะรู้ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ดีอยู่แล้ว"
ถึงแม้ สพฐ.จะพบผู้กระทำส่อทุจริตเพียงสามราย ซึ่ง 2 รายแรกได้สละสิทธิ ส่วนรายสุดท้ายถูกตัดสิทธิและถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย ก็คงไม่น่าดีใจนัก เพราะโดยหลักแล้วการสอบคัดเลือกระดับชาติที่จะคัดกรองบุคคลเข้ามาเป็นรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา เพื่อไปทำหน้าที่บริหารงาน ดูแลการจัดการศึกษาให้กับนักเรียนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ไม่ควรเกิดการทุจริตขึ้นสักรายเดียว
ย้อนไปช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การสอบบรรจุระดับผู้บริหารสถานศึกษา การสอบบรรจุครูผู้ช่วยในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. มักมีความด่างพร้อย เกิดการทุจริตอยู่เรื่อยมา และเรื่องราวใหญ่โตหากยังจำกันได้กรณีของข้อสอบรั่วในการสอบครูผู้ช่วยกรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว 12 ปี 2556 มีผู้เข้าสอบหลายร้อยคนถูกตัดสิทธิเพราะคะแนนสูงผิดปกติ ในขณะที่ผู้บริหารระดับสูง สพฐ.ถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ต้องหามาตรการมาป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตซ้ำอีก อย่างเช่น ก.ค.ศ.ได้ปรับออกหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกให้รัดกุม การให้สมัครสอบคัดเลือกได้เพียงเขตพื้นที่การศึกษาเดียว จากเดิมสมัครได้หลายเขตพื้นที่ฯ ส่วน สพฐ.คุมเข้มการจัดส่งข้อสอบไปยังเขตพื้นที่ฯมากขึ้น และล่าสุดในการสอบรอบนี้ สพฐ.กำชับให้เขตพื้นที่ฯตรวจสอบ ห้ามไม่ให้มีการติวเกิดขึ้น
ในขณะที่มาตรการขึ้นบัญชีดำหรือ "แบล๊ก ลิสต์" ผู้ที่กระทำผิดในการสอบทุจริต และการเพิกถอนในอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ผู้ที่กระทำการทุจริต กลับไม่ได้มีการนำมาใช้เลย แม้ว่า "ก่อนหน้านี้ ก.ค.ศ.และคุรุสภาในฐานะที่กำกับดูแลใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ เคยระบุว่าสามารถดำเนินการขึ้นบัญชีดำผู้ทุจริตสอบไม่ให้มีสิทธิสมัครสอบรอบใหม่ได้ รวมทั้งการเพิกถอนในอนุญาตประกอบวิชาชีพฯจะมีผลให้ไม่สามารถประกอบวิชาชีพครู"
ทั้งนี้การขึ้นบัญชีดำและถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ ถือเป็นยาแรง ปิดประตูไม่ให้คนทุจริตมีโอกาสกลับเข้าสู่แวดวงการศึกษาได้อีก
แต่น่าเสียดายที่มาตรการดีๆ เหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 21 ก.พ. 2558 (กรอบบ่าย)--