ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา
มีนักคิดท่านหนึ่งเปรียบการศึกษาเหมือนดอกกล้วยไม้ออกดอกช้าฉันใด คราวออกแล้วงามเด่น...เป็นดังเช่นปัจจุบันผลการจัดการศึกษาดูได้จากการ ทดสอบระดับชาติ (NTONET) แม้จะเป็นเส้นทางที่ลางเลือน เพราะผลคะแนนหลายปีที่ผ่านมา ไม่น่าพอใจ และผู้ปฏิบัติในระดับสถานศึกษาก็เขม็งเกร็งเกรียวกับเรื่องเหล่านี้ เป็นไม้เบื่อไม้เมากันทีเดียว
จนดูเหมือนจะเป็นเส้นทางที่มืดมน มองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ดังว่า เกิดข้อกังขา จะทะลุถึงเป้าหมายปลายทางคุณภาพผู้เรียนได้อย่างไร
สิ่งที่ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้สร้างขึ้นในสังคมไทยประการหนึ่งก็คือวัฒนธรรมการประเมิน คนไทยไม่ค่อยยอมรับเอาผลการประเมินมาปรับปรุงวิธีคิด วิธีการทำงานของตนเอง ชอบตีโพยตีพาย องุ่นเปรี้ยวมะนาวหวาน ปัดรังควาน เอาช่องน้อยแต่พอตัว รักษาตัวรอดเป็นยอดดี
ความไม่ชัดเจนหรือตกผลึกในเส้นทางที่จะก้าวไปสู่คุณภาพดังกล่าวต่างหาก คือปัญหาของคนทำงาน แม้ว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ไว้เป็นเป้าหมายอันชัดเจนแล้วก็ตาม แต่วิธีการไปสู่เป้าหมายที่คนนำทางยังไม่ชำนาญเส้นทางเพียงพอที่จะบรรลุได้
ผอ.เขตพื้นที่บางท่านตอบข้อซักถามในเวทีปฏิรูปการศึกษาหรือตอบข้อสนทนาเกี่ยวกับนโยบายการปฏิรูปการศึกษา สรุปได้ว่ามี 3 ลักษณะคำตอบ
1) ตอบแบบเบี่ยงเบน เช่นคำว่า ไม่ควรจะมีการทดสอบ NTONET เพราะเด็กแต่ละบริบทจะวัดด้วยข้อสอบมาตรฐานเดียวกันไม่ได้ ถ้าจะสอบก็ไม่ควรสอบทั้ง 8 วิชาเช่นปัจจุบัน ควรสอบเฉพาะวิชาหลักๆ เท่านั้น
2) ตอบแบบโยนความรับผิดให้ผู้อื่น เช่นคำว่า เรื่องนี้เป็นภาระหน้าที่ของครูผู้สอนทั้งหมดขึ้นอยู่กับครู จะต้องคัดเลือกครูที่จบเฉพาะทาง จะต้องหาเจ้าหน้าที่ธุรการทำงานแทนครู ฯลฯ
3) ตอบแบบเอาดีใส่ตัว เช่นคำว่า เรื่องนี้ในเขตพื้นที่ของตนก็ได้ปฏิบัติอยู่แล้วด้วยวิธีการที่หลากหลาย (แต่มีผลสำเร็จแบบขอไปที)
ซึ่งคำตอบเหล่านี้ล้วนสะท้อนความเชี่ยวชาญในการบริหารงานสำนักงานการศึกษามากกว่าบริหารหลักสูตรและการเรียนการสอนอันส่งผลโดยตรงถึงผู้เรียน
ในเมื่อผู้นำการศึกษาคิดเช่นนี้ พูดเช่นนี้ ไหนเลยผู้บริหารโรงเรียนจะไม่คล้อยตามและเอาเป็นเยี่ยงอย่าง จึงไม่แปลกใจเลยว่า ไม่ว่า สพฐ. จะประกาศมาตรการยกระดับคุณภาพนักเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (18 เมษายน 2557) หรือ รมว.ศธ.จะประกาศนโยบายปี 2558 ปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้หรือนโยบายใดๆ ก็ตาม
ท้ายที่สุดก็มากองรวมกันไว้ที่หน้าสำนักงานเขตพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ ไม่สามารถลงสู่การปฏิบัติในระดับสถานศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม
ผอ.เขตพื้นที่ฯ บางท่านที่พอจะเห็นว่านโยบายระดับกระทรวงฯ ถือเป็นความสำคัญพิเศษ เปรียบเหมือนคนที่พอจะรู้ตัวว่าเป็นไข้ตัวร้อน ยังรีบหายาพาราเซตามอลรับประทาน แต่บางท่านนอกจากไม่ตระหนักรู้แล้ว ยังเบี่ยงเบน หลีกเลี่ยง โยนกลองให้ผู้อื่น คนเหล่านั้นถือเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และเป็นมะเร็งสมองด้วย
ต้องผ่าตัดเท่านั้น จึงจะคิดได้!!
ที่มา: หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ วันที่ 20 - 26 ก.พ. 2558