พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานและการประกันคุณภาพ สภาการศึกษา ร่วมประชุม โดยมีประเด็นสำคัญโดยสรุปดังนี้
● บทบาทของ สกศ. ในยุคปฏิรูปการศึกษา
ที่ประชุมได้หารือถึงบทบาทของสภาการศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษา ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เสนอ ซึ่งได้เสนอให้มีการเปลี่ยนชื่อสำนักงานใหม่เป็น “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์แห่งชาติ” หรือ สกศ. (อาจจะมีการปรับเปลี่ยนชื่อใหม่) เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีบทบาทดังนี้
- เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษา และทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ
- เป็นคลังข้อมูลทางการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ
- เป็นศูนย์กลางข้อมูลการวิจัยทางการศึกษา
- จัดทำกรอบงบประมาณตามแผนพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ
- จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ แผนการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ และนโยบายเฉพาะด้าน
- วิจัย ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการศึกษา
- ติดตามและประเมินผลการพัฒนาการศึกษา ฯลฯ
การดำเนินงาน จะเป็นการขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นองค์คณะบุคคลที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีวิสัยทัศน์ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และเป็นที่ยอมรับ ปลอดการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและเสนอยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ เสนอความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบงบประมาณตามแผนพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ติดตามและประเมินผลการพัฒนาการศึกษา ให้ข้อเสนอแนะด้านกฎหมาย ให้หน่วยงานหรือบุคคลมาให้ข้อมูลประกอบการดำเนินงาน และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ
อำนาจหน้าที่ มีหน้าที่ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ จัดทำข้อเสนอนโยบายและแผน วิจัยและส่งเสริมการวิจัย พัฒนาคลังข้อมูลทางการศึกษา วิเคราะห์และจัดทำกรอบงบประมาณ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตาม/ประเมินผล และศึกษา วิเคราะห์ ให้ความเห็นในการจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายการศึกษา ตลอดจนจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต่อคณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่ใหม่ เพื่อประกอบการจัดทำนโยบายด้านการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ของรัฐบาล
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ของ สกศ. จะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4 ฉบับ คือ 1) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553 2) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2553 3) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 4) กฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา การเลือกกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา พ.ศ.2546
รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเด็นนี้ว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการปรับบทบาทของ สกศ. และการเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะขณะนี้เรายังขาดผู้ที่จะคิดนโยบายระดับชาติด้านการศึกษา และเรื่องของการใช้ทรัพยากรมนุษย์ในอีก 10 ปีข้างหน้า จึงควรมีหน่วยงานหรือกลุ่มบุคคลที่จะเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีเพื่อวางแผนอนาคตให้กับประเทศชาติทั้งในด้านการใช้ทรัพยากรมนุษย์และด้านการศึกษา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ซึ่งที่ประชุมได้มอบให้ สกศ.ประมวลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของกรรมการสภาการศึกษา เพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงให้เป็นส่วนหนึ่งของบทบาทของ สกศ.อย่างเหมาะสม และนำกลับมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป
● ทิศทางการพัฒนาการศึกษาระดับภาคการศึกษา
ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงาน "โครงการจัดทำรายงานทิศทางการพัฒนาการศึกษาระดับภาคการศึกษา" เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ (ปี พ.ศ.2560-2569) แทนแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาของแผนในปี พ.ศ.2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาเชิงพื้นที่ตามศักยภาพและภูมิสังคมของแต่ละภาคการศึกษา และให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการเสนอทิศทางการพัฒนาการศึกษา
โดยมีแนวทางการดำเนินงาน คือ ศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลง และแนวโน้มทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถานการณ์ด้านการศึกษา และสถานการณ์ความต้องการกำลังคนของจังหวัดและภาคการศึกษา ตลอดจนยกร่างรายงานทิศทางการพัฒนาการศึกษาของภาคการศึกษาในช่วง พ.ศ.2560-2569 จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน พร้อมทั้งปรับแก้และจัดทำร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ให้เสร็จสิ้นได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2558
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สกศ.รับข้อเสนอของกรรมการไปปรับแก้ให้เหมาะสมกับแผน ทั้งประเด็นการสร้างความเป็นคน การสร้างบุคลากรเพื่อพัฒนาประเทศในอนาคต และที่สำคัญที่สุดคือเพิ่มบทบาทการจัดการศึกษาของศาสนาทุกศาสนา เพราะการศึกษาไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่อยู่ในความรับผิดชอบของคนทุกคนและทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งจะต้องเป็นการศึกษาตลอดชีวิต ที่ไม่ได้อยู่เฉพาะระดับปฐมวัยถึงอุดมศึกษาในโรงเรียนหรือสถานศึกษา แต่จะต้องครอบคลุมไปถึงผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษาด้วย อาทิ ผู้ด้อยโอกาส คนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ เป็นต้น
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงโจทย์ของประเทศที่จะเป็นทิศทางในการจัดการศึกษาในอีก 20 ปีข้างหน้าว่า กว่าร้อยละ 30 ของคนไทยจะมีอายุมากกว่า 60 ปี จึงต้องวางแผนการพัฒนาผู้สูงวัย รวมทั้งพิจารณาโจทย์ของประเทศที่ในอนาคตจะมีคนวัยทำงานอีกกว่า 35 ล้านคน ตลอดจนคำนึงถึงระบบนิเวศวิทยาของประเทศ ที่จะมีการลงทุน Mega Project และการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะด้วย
● เห็นชอบองค์ประกอบคณะอนุกรรมการบริหารโครงการประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐฯ ด้านการศึกษา
จากการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยการพัฒนาการเรียนการสอน หลักสูตร และการประเมินผลการศึกษา โดยทรงมีพระราชดำริว่าประเทศไทยควรได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับต่างประเทศ จึงทรงประสานให้นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาของไทยได้แลกเปลี่ยนกับนักวิชาการของสหรัฐอเมริกา จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐอเมริกาด้านการศึกษา
ซึ่งที่ผ่านมา ไทยและสหรัฐอเมริกาได้สลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมาแล้ว 6 ครั้ง โดยการประชุมแต่ละครั้งจะมีกิจกรรมก่อนและหลังการประชุม ในส่วนของประเทศไทยได้มีการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล สร้างความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาในการวิจัยนโยบายและการทำงานร่วมกัน ที่สำคัญคือได้ใช้ผลการวิจัยประกอบการจัดทำข้อเสนอนโยบายยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา ในช่วงปี 2553-2554 ด้วย
สำหรับปีนี้ ได้กำหนดจัดการประชุมครั้งที่ 7 ขึ้นในประเทศไทย เพื่อสานต่อโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์ประธานกิตติมศักดิ์ของโครงการ และในโอกาสฉลองพระชนมพรรษา 5 รอบด้วย
ที่ประชุมจึงให้ความเห็นชอบองค์ประกอบคณะอนุกรรมการบริหารโครงการประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐอเมริกาด้านการศึกษา เพื่อทดแทนคณะอนุกรรมการที่สิ้นสุดวาระลง โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ เป็นที่ปรึกษาอนุกรรมการ และรองศาสตราจารย์ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ เป็นประธานอนุกรรมการ มีเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นรองประธานอนุกรรมการ มีอนุกรรมการ 13 ราย และมีรองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนในการประชุมโต๊ะกลมฯ วางแผน เตรียมการ และกำหนดแนวนโยบายการจัดประชุม จัดทำโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านการศึกษาระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา กำหนด กำกับ และดูแลงานวิจัย เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาด้านต่างๆ ตลอดจนแต่งตั้งคณะทำงานอื่นๆ ตามความเหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านต่างๆ คือ
- คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านติดตามและประเมินผลการศึกษา ซึ่งมีนายสมนึก พิมลเสถียร เป็นประธาน ได้รายงานความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาการออกแบบและพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา (ร่าง) และกรอบการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา
- คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการสื่อสารและใช้เทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ ซึ่งมีนายมินทร์ อิงค์ธเนศ เป็นประธาน ได้รายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญ คือ ศึกษาดูงานโรงเรียนต้นแบบที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนแบบ Smart Classroom ร่วมประชุมทางวิชาการเรื่องการบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษารูปแบบใหม่
- คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านพัฒนาศักยภาพเยาวสตรีในสถานศึกษา รายงานโดยนางวัชรินทร์ ศานตระกูล รองประธาน ที่ได้มีการรายงานสรุปผลการจัดงานชุมนุมยุวกาชาดและเยาวสตรีภาคใต้ภายใต้การทำงานร่วมระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สรุปผลการดำเนินโครงการยุวกาชาดโรงเรียนลำปางกัลยาณีบำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ