Advertisement
คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์
โดย ธำรง คงคาสวัสดิ์
http://tamrongsakk.blogspot.com
เงินเดือน 25,000 จะทำไหม ?
ผมไปอ่านเจอกระทู้นี้เข้าในเว็บไซต์ชื่อดังแห่งหนึ่งเลยเกิดไอเดียหลาย ๆ อย่าง ที่อยากจะนำมาแชร์ประสบการณ์กับท่านผู้อ่าน ผมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน ที่เกี่ยวกับวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยนะครับ
ผมขอไล่เรียงเป็นข้อ ๆ เพื่อให้ท่านอ่าน ได้ง่าย ๆ อย่างนี้ครับ
1.น้องคนนี้เพิ่งจบปริญญาตรีด้านไอที (Information Technology-IT) แล้วยังไปสอบวัดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษที่รู้จักกันดี คือ TOEIC (The Test of English for International Communication) ได้คะแนน 800 กว่า ๆ (จากคะแนนเต็ม 990 รายละเอียดของ TOEIC สำหรับท่านที่ยังไม่รู้ก็ไปหาอ่านในกูเกิลนะครับ) ซึ่งถือว่าได้คะแนนดี แล้วไปสมัครงานบริษัทแห่งหนึ่งแล้วบริษัทให้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 25,000 บาท แต่ลักษณะงานเหนื่อยหน่อย (ไม่ได้บอกว่า "เหนื่อย" นี่เหนื่อยแบบไหนยังไง) ก็เลยคิดว่าน่าจะไปหาบริษัทอื่นที่จะให้เงินเดือนมากกว่านี้ เพราะคิดว่าตัวเองก็จบด้านสารสนเทศมา ภาษาก็ดีควรจะได้งานที่จ่ายให้มากกว่านี้
2.จากข้อมูลตามข้อ 1 เงินเดือนเริ่มต้นที่บริษัทแห่งนี้ เขาเสนอให้ที่ 25,000 บาท (ซึ่งผมก็ว่าดีพอสมควรสำหรับคนจบปริญญาตรีใหม่) สำหรับน้องคนนี้ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อนเลย แต่อยากจะได้เงินเดือนมากกว่านี้ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานอะไรเลย แต่น้องอาจจะคิดว่าตัวเองก็มีจุดเด่นเรื่องผลสอบ TOEIC ได้ 800 กว่า ๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้สมัครคนอื่นเขาอาจจะมีผลสอบ TOEIC น้อยกว่านี้ก็เลยอาจจะคิดว่าน่าจะเอาคะแนน TOEIC มาเพิ่มค่าตัวให้มากขึ้นได้ทำนองนั้นมั้งครับ
3.ถ้าน้องมองไปไกล ๆ ยาว ๆ ในอนาคตข้างหน้า สิ่งที่จะทำให้น้องยืนยงอยู่ในวงการแบบมืออาชีพได้ (ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างมืออาชีพหรือเถ้าแก่ก็ตาม) สำหรับผม ผมว่านั่นคือเรื่องของ "ผลงาน+ความสามารถ" ในการทำงานนะครับ หรือจะเรียกเชิงวิชาการหน่อย ๆ เขาก็อาจจะเรียกว่า P+C (Performance+Competency)
ทั้งสองส่วนนี้จะได้มาจากประสบการณ์ทำงาน การเรียนรู้และพัฒนาตัวเองในงานที่รับผิดชอบ การสร้างผลงานที่เป็น Signature ของตัวเองให้คนรอบข้างยอมรับ ซึ่งเรื่องพวกนี้แน่นอนว่าในคนจบใหม่ยังไม่มีในทันทีที่จบ แต่จะต้องใช้เวลาในการสั่งสมและสร้างมันขึ้นมาครับ
4.P+C นี่แหละจะทำให้ค่าตัวของน้องเพิ่มขึ้นตามเวลา อายุตัว อายุงานที่ผ่านไป ถ้าน้องมี P+C ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเกิดการยอมรับจากคนรอบข้าง (ผู้บริหาร, หัวหน้า, เพื่อนร่วมงาน, ลูกน้อง ฯลฯ) แต่ถ้า P ก็ไม่ได้มีอะไรเพิ่มขึ้น แถม C ก็ไม่มีความสามารถอะไรที่พัฒนาขึ้นมาเลย ทำงานมากี่ปีก็มีความรู้ในงานทักษะใกล้เคียงกับเด็กจบใหม่ แล้วใครเขาจะมาให้เงินเดือนเยอะ ๆ ละครับ
5.จากที่ผมบอกมาข้างต้น ถ้าแทนที่น้องจะเอาเงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาท ที่น้องบอกว่าน้อยกว่าความสามารถที่น้องมี (ซึ่งตอนนี้ก็คงมีเพียงเรื่องผลสอบ TOEIC เพียงอย่างเดียว แต่ความสามารถในเรื่องงานยังไม่มีอะไรเลย) มาเป็น...เอาตัวเนื้องานที่น้องจะต้องทำมาเป็นตัวตั้งต้น คือตอบตกลงทำงานแล้วเก็บเกี่ยวความรู้และทักษะในงานที่รับผิดชอบ ทำงานนี้ให้ดีที่สุด สร้างผลงาน (Performance) ที่หัวหน้าและคนรอบข้างยอมรับ ซึ่งจะทำให้น้องพัฒนาขีดความสามารถ (Competency) ให้เพิ่มขึ้นกว่าตอนเรียนหนังสือ เพราะตอนเรียนเราจะรู้แต่ทฤษฎี
แต่การทำงานจริงเราจะได้ประยุกต์สิ่งที่เรียนในตำรามาสู่การปฏิบัติ (Practice) ซึ่งจะทำให้เกิดประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากในตำรา ถ้าน้องมีวิธีคิดได้อย่างนี้ผมว่าในอนาคตน้องจะเติบโตไปในแบบ "มืออาชีพ" ตัวจริงเสียงจริงและเป็นที่ต้องการขององค์กรต่าง ๆ มากกว่านะครับ ส่วนเรื่องค่าตอบแทนนั้นผมว่าน้องจะเป็นคนประเภท "หล่อเลือกได้" หรือ "สวยเลือกได้" เพราะคนมีประสบการณ์มีผลงานมีความสามารถใคร ๆ ก็อยากได้ไปทำงานด้วยอยู่แล้วครับ
อยากจะฝากข้อคิดอีกอย่างก็คือ เมื่อน้องจบการศึกษามาแล้วไม่ว่าผลการสอบใด ๆ ที่เรียนมามันจบไปตั้งแต่ตอนที่บริษัทเขารับเข้าทำงานแล้ว ส่วนที่ต่อจากนั้นบริษัทเขาต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถในงาน มีประสบการณ์ทำงาน มีผลงานอย่างที่เขาต้องการมากกว่าเพียงแค่เกรดหรือผลการสอบในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ดังนั้น อย่าไปยึดติดเรื่องผลการสอบสมัยเรียนหนังสือให้มากจนเกินไป แล้วเอามาโยงกับชีวิตการทำงานในปัจจุบันเพราะมันคนละเรื่องกันครับ
อย่าติดกับอดีตให้อยู่กับปัจจุบัน !
6.สำหรับบริษัทที่น้องไปสมัครงานแล้วให้เงินเดือน 25,000 บาทนั้น ผมยังมีข้อคิดข้อสังเกตบางประการ คือ ถ้าเป็นปริญญาตรี IT เหมือนกับน้อง แต่ไม่ได้สอบ TOEIC หรือผลการสอบ TOEIC ได้ต่ำกว่า 800 เช่น ได้ 600 คะแนน อย่างนี้จะให้เงินเดือนเริ่มต้น 25,000 เท่ากันด้วยหรือไม่ ถ้าให้ไม่เท่ากันเหตุผลคืออะไร เพราะตำแหน่งงานนี้ต้องการคนที่เป็น IT Man ที่ใช้ภาษาอังกฤษ พูด-อ่าน-เขียน คล่องแคล่วต้องติดต่อกับต่างชาติอย่างนั้นหรือเปล่า
ถ้าสมมุติว่าในตำแหน่งที่น้องสมัครงานนี้ไม่ได้ติดต่อต่างชาติ ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเลย จะไปกำหนดอัตราเงินเดือนเริ่มต้นในตำแหน่งนี้ให้สูงกว่าคนที่จบวุฒิเดียวกัน แต่ไม่ได้สอบ TOEIC หรือผลคะแนน TOEIC น้อยกว่าน้องคนนี้ไปเพื่ออะไรกันครับ
ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะยังมีหลายองค์กรมีการจ่ายค่าตอบแทนในลักษณะนี้ ที่พอผมถามไปก็หาเหตุผลในการตอบผมไม่ได้ ว่าทำไมถึงไปจ่ายแพงกว่าในเรื่องที่เราก็ไม่ได้ใช้ แถมทำให้ Staff Cost สูงขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผล และยังทำให้เกิดปัญหาเชิงแรงงานสัมพันธ์ระหว่างพนักงานด้วยกันอีกต่างหาก เพราะทำงานเดียวกัน ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษติดต่อต่างชาติอะไรเลยเหมือน ๆ กัน แต่เพื่อนดันได้เงินเดือนเยอะ กว่าทั้ง ๆ ที่ผลสอบ TOEIC ก็ไม่ได้เอามาใช้ในการทำงานให้เกิดประโยชน์กับบริษัทคุ้มค่ากับเงินที่บริษัทจ่ายเพิ่มขึ้น ??
ผู้บริหารองค์กรไม่ควรลืมสัจธรรมที่ผมพูดไว้เสมอ ๆ ว่า "เงินเดือนของเราได้เท่าไหร่...ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่" ด้วยละครับ เรื่องเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารงานบุคคลมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว
จากที่ผมแชร์ความคิดเห็นและข้อสังเกตมาทั้งหมดนี้ คงจะพอทำให้ทั้งท่านที่เป็นน้องใหม่เพิ่งจบการศึกษา และท่านที่เป็นผู้บริหารกิจการได้มีข้อคิดอะไรบางอย่าง เพื่อกลับไปปรับปรุงอะไรบางอย่างบ้างแล้วนะครับ
(ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 19-22 กุมภาพันธ์ 2558)
ลิงก์จาก มติชนออนไลน์
Advertisement
เปิดอ่าน 16,866 ครั้ง เปิดอ่าน 7,649 ครั้ง เปิดอ่าน 10,067 ครั้ง เปิดอ่าน 19,355 ครั้ง เปิดอ่าน 11,743 ครั้ง เปิดอ่าน 10,244 ครั้ง เปิดอ่าน 16,631 ครั้ง เปิดอ่าน 23,164 ครั้ง เปิดอ่าน 14,178 ครั้ง เปิดอ่าน 10,940 ครั้ง เปิดอ่าน 8,761 ครั้ง เปิดอ่าน 10,199 ครั้ง เปิดอ่าน 15,026 ครั้ง เปิดอ่าน 71,430 ครั้ง เปิดอ่าน 14,326 ครั้ง เปิดอ่าน 13,869 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 10,689 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 23,028 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 21,001 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 25,107 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 21,335 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 9,941 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 68,294 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 16,381 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,914 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,423 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,615 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,479 ครั้ง |
|
|