เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า น.ส.คริสตัล ทัน นักวิเคราะห์ของแคปปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าวแสดงความเห็น ไว้ว่าไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้กู้ยืมมากที่สุดในภูมิภาค และจะทำให้กลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในที่สุด
อ่านเจอข่าวนี้แล้วก็ชวนให้สะดุ้งอยู่เหมือนกัน...จะเป็นไปได้หรือจากชาติที่ใครๆเคยให้ฉายาว่า “เสือตัวใหม่ของเอเชีย” เมื่อหลายๆปีก่อนโน้น จะกลายเป็น “คนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ไปเสียแล้ว
ลองไปดูตัวเลขที่มีการรายงานไว้ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า เมื่อสิ้นปี 2557 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปีเดียวกัน น่าจะอยู่ที่ 85.5 เปอร์เซ็นต์
ถามว่าสูงไหม? คงต้องตอบว่าสูง...แต่ก็เพิ่มในอัตราที่ชะลอลง เมื่อเทียบกับปีก่อนๆโน้น คือเพิ่มในอัตราประมาณร้อยละ 3.2
แต่ก็อย่าลืมว่า จีดีพีของปี 2557 คาดว่าเพิ่มเพียงร้อยละ 1 กว่าๆ เท่านั้น ดังนั้นอัตราเพิ่มของหนี้ครัวเรือนปีที่แล้วก็ยังสูงกว่าอัตราเพิ่มของจีดีพีอยู่ดี
ซึ่งถ้าปล่อยให้อัตราเพิ่มของหนี้ครัวเรือนสูงกว่าอัตราเพิ่มของจีดีพีไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนเปราะบาง และมีความไม่แน่นอนสูงในอนาคต
ผลกระทบโดยตรงประการสำคัญก็คือ จะทำให้อัตราการออมของประเทศลดลง และก็จะนำไปสู่การลงทุนที่ลดลง การบริโภคลดลง ฯลฯ
ท้ายที่สุดก็จะทำให้อัตราเพิ่มจีดีพีนั่นแหละลดลง
นี่กระมังที่นักเศรษฐศาสตร์หญิงท่านนี้มองไปว่า ประเทศไทยกำลังจะเป็นคนป่วยรายใหม่ของภูมิภาค
ในการวิเคราะห์ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่าปี 2558 แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทยจะยังสูงขึ้นอีก และอาจจะจบที่ระดับ 88.0-89.0 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่สูงขึ้นนี้ ไม่ได้แปลว่าทุกครัวเรือนของประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาหนี้สินสะสมที่รุนแรงเท่าๆกันนะครับ
กลุ่มรายได้ปานกลางขึ้นไปคงไม่สาหัสนัก ยังพอมีหมุนมีผ่อนกันได้
ที่น่าห่วงคือกลุ่มล่างๆ ที่มีรายได้ต่ำ รายได้ไม่แน่นอน เช่นกลุ่มอาชีพลูกจ้างรายวัน กลุ่มเกษตรกร หรือแม้แต่ลูกจ้างรายเดือนระดับเริ่มงานใหม่ใน กทม. ก็ใช่ว่าจะอยู่ได้ ส่วนใหญ่จะมีหนี้สินและรับภาระที่หนักหน่วงที่จะต้องชำระ
และที่น่าห่วงมากๆก็คือ ผู้เป็นหนี้สินในระดับล่างๆนี้ มักจะหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ซึ่งกลายเป็นการเผชิญปัญหาที่สาหัสเพิ่มขึ้นไปอีก
ตัวเลขของสำนักเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ระบุว่ามีคนไทยถึง 14.6 ล้านคน ที่มีความรู้ทางด้านการเงินค่อนข้างต่ำมาก จนเป็นเหตุให้มีหนี้ครัวเรือนสูง ได้แก่ กลุ่มอาชีพอิสระ พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย และเกษตรกร เป็นต้น
แต่ผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่า ตัวเลขที่ว่านี้จะมากพอที่จะทำให้สรุปได้ว่าประเทศไทยเราเป็นคนป่วยไปแล้วหรือยัง
เท่าที่ฟังความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ไทยที่ยังทำงานและติดตามปัญหาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่เขาก็บอกแต่เพียงว่า “ปัญหาน่าห่วง” จริง...จะต้องติดตามและจะต้องหาทางแก้ไขต่อไปในอนาคต
แต่ก็ยังไม่มีใครใช้คำว่า “คนป่วย” และก็มีหลายรายด้วยซ้ำที่ออกมาปฏิเสธที่มีการใช้คำเปรียบเทียบที่ค่อนข้างแรงคำนี้
ก็เอาเถอะ คุณ คริสตัล ทัน อาจจะใช้คำที่แรงไปนิด แต่ก็ต้องขอบคุณเธอที่ออกมาช่วยเตือนให้เราทราบถึงอาการโรคที่ประเทศไทยเรากำลังเจออยู่
ยังไงๆก็ต้องช่วยกันรักษา ช่วยกันป้องกัน และช่วยกันระมัดระวังอย่าให้เป็นอย่างที่เธอว่าไว้เป็นดีที่สุด
เท่าที่ฟังจากรัฐบาลก็ได้ยินว่าจะมีโครงการมาช่วยแก้ปัญหามากมาย ล่าสุดก็มีข่าวว่าจะให้แบงก์รัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ขนานใหญ่
จะได้ผล...คือช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนลงได้บ้าง...หรือจะกลับกลายเป็นสร้างหนี้ให้เพิ่มขึ้นอีก โปรดติดตามกันต่อไป
สรุปว่า...จาก “เสือตัวใหม่” ของเอเชีย ลดฐานะมาเป็น “แมวตัวใหม่” ของเอเชีย ยังพอรับได้...แต่จะให้เป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” เนี่ย...ลุงตู่อย่ายอมเป็นอันขาดเชียวนา.
“ซูม”
ที่มา คอลัมน์ เหะหะพาที โดย ซูม จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 18 กุมภาพันธ์ 2558