ตรวจราชการแบบไทยๆ
คอลัมน์ เลาะเลียบคลองผดุงฯ
ตุลย์ ณ ราชดำเนิน tulacom@gmail.com
จากรายงานผลการตรวจราชการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในปี 2558 ในประเด็นนโยบายสำคัญ คือการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 และการดำรงความต่อเนื่องภายหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ล่าสุดเมื่อต้นเดือนนี้มีความน่าสนใจและน่าติดตามในรายละเอียดเป็นอย่างยิ่ง
ไม่เพียงเป็นการตรวจสอบถึงความพร้อม การดำเนินการในสถานศึกษาของศธ.แล้ว ยังเห็นการเอาใส่ใจของบรรดาผู้บริหารว่า มีมากน้อยเพียงใดกับการนำนักเรียนเข้าสู่ใต้ร่มธงประชาคมอาเซียน อย่างที่รัฐบาลคาดหวัง
ก็ไม่ทราบว่าในที่ประชุมศธ. ซึ่งมีรมว.ศธ. เป็นประธาน และคณะ ไล่ไปถึงผู้บริหารองค์กรหลักที่เข้าประชุมจะติดใจสงสัยในรายละเอียดบ้างหรือไม่
เริ่มจากรายงานระบุถึงความพร้อมของนักเรียน มีการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศและภาษาอาเซียน จัดการแข่งขันตอบปัญหาอาเซียน พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะการเรียนรู้ แต่ทำไมผลสัมฤทธิ์รายวิชาหลักของนักเรียนในระดับ ป.6 และ ม.3 ยังต่ำกว่าเกณฑ์ระดับประเทศ
ส่วนการขยายเครือข่าย ได้มีการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และดำเนินความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมไปถึงที่บอกว่า ได้มีการอบรมครูด้านภาษาและกระบวนการคิด การพัฒนาหลักสูตรร่วมอาเซียนในกลุ่มโรงเรียน
เมื่อดูถึงจำนวนแค่เฉพาะสถานศึกษาและครูในสังกัดสพฐ.ทั่วประเทศแล้ว หากมีคำตอบเป็นตัวเลขให้ที่ประชุมได้รับทราบชัดเจนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ย่อมนำไปสู่วิสัยทัศน์และการพัฒนาได้ถูกจุด
มิใช่รายงานด้วยลีลาทางภาษาแบบกล้าๆ กลัวๆ ขาดความกล้าหาญกับการเผชิญหน้ากับความจริง ทั้งๆ ที่ความจริงเรื่องการศึกษา ล้วนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อการนำชาติให้รอดพ้นจากความตกต่ำและหายนะทั้งปวงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขที่เป็นจริง
หนึ่งในข้อเสนอแนะจากรายงานที่ว่า ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครู เพิ่มการใช้หลักสูตรรวมอาเซียน เพิ่มบทบาทของกศน. และทบทวนเนื้อหาสาระการเรียนรู้ เรื่องการอยู่ร่วมกันในประชาคมอาเซียน มันเป็นสิ่งที่บอกกับทุกคนว่า นี่คือของจริงแบบไม่ต้องการตัวเลข
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558