ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเพียงเข้าเดือนที่ 2 ของปี แต่กลับมีข่าวคราวนักเรียนประท้วง ผอ.ร.ร.แบบสั่นสะเทือนวงการ ผุดขึ้นหน้าหนึ่งของสื่อหลายสำนัก ถึง 2 กรณีด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวถึง 3,000 คน ของนักเรียน "โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัยสมุทรปราการ" ที่ออกมาประท้วงขับไล่ ไม่ให้ นางเพ็ญพิไลลักษณ์ มณีภาค อดีต ผอ.ร.ร. กลับมาบริหารงานอีก ด้วยเรื่องถูกร้องทุจริตเช่าเครื่องปรับอากาศติดในห้องเรียน 59 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 3 แสนบาท รวมมูลค่ากว่า 18 ล้านบาท กับสัญญาเช่า 5 ปี ซึ่งเป็นราคาที่เหล่านักเรียน และผู้ปกครองมองว่าสูงเกินจริง
นักเรียน ร.ร.สวนกุหลาบ ปากน้ำ กว่า 3,000 คน ร้องขับไล่ไม่ให้ นางเพ็ญพิไลลักษณ์ มณีภาค อดีต ผอ.ร.ร. กลับมาบริหารงานอีก เหตุไม่โปร่งใส ใช้งบ ร.ร.สูงเกินจริงกว่า 18 ล้านบาท เช่าแอร์
หรือล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ตกเป็นของ "โรงเรียนสตรีวิทยา 2" ที่มีกลุ่มนักเรียน ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน อาจารย์ และผู้ปกครอง นัดชุมนุมประท้วงกว่า 2,500 คน ภายในโรงเรียน แสดงความจำนงไม่รับอดีต ผอ.ร.ร. นายพชรพงศ์ ตรีเทพา ที่มีเรื่องอื้อฉาวเมื่อครั้งทีมโยธวาทิตของ ร.ร. ไปเรี่ยไรขอเงินสนับสนุนจำนวน 3.1 ล้าน จาก ตัน ภาสกรนที รวมไปถึงการแทรกแซงงานบริหารจนทำให้เกิดความแตกแยก จนไม่สามารถพัฒนาคุณภาพโรงเรียนได้
นร.ไล่ ผอ. กรณีล่าสุด เกิดที่ ร.ร.สตรีวิทยา 2 โดย นร.และผู้ปกครองราว 2,000 คน ขอไม่ให้ นายพชรพงศ์ ตรีเทพา กลับมานั่งแท่นบริหาร
หากนับย้อนไปในปีที่แล้ว 2557 ตลอดทั้งปี มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นหลายกรณีด้วยกัน เช่น ร.ร.เชียงแสนวิทยาคม จ.เชียงราย มีนักเรียนกว่า 400 คน รวมตัวกันที่ว่าการอำเภอเชียงแสน โจมตีไม่เอา ผอ.ร.ร. หรือกรณีนักเรียนเมืองรถม้า จ.ลำปาง ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประมาณ 600 คน เดินถือป้ายประท้วงขับไล่ ผอ.ร.ร. ศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีย์
ขณะที่ภาคอีสานก็เกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กัน ใน ร.ร.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ที่นักเรียนและผู้ปกครองเกือบ 500 คน ได้รวมตัวถือป้ายประท้วงตะโกนขับไล่ผู้บริหาร เช่นเดียวกับที่ ร.ร.ห้วยหินพิทยาคม จ.บุรีรัมย์ ที่นักเรียนกว่า 500 คน ฮือขับไล่ ผอ.ร.ร. ให้พ้นจากสถานศึกษาภายใน 24 ชม. ไม่เว้นแม้แต่ที่ จ.อยุธยา ที่แกนนำผู้ปกครองนักเรียนราว 200 คน ก็ลงมือขับไล่ ผอ.ร.ร.โพธิ์ราษฎร์บำรุง จนทหารต้องเข้ามาไกล่เกลี่ย
ลุกลามและรุนแรงแบบฉุดไม่อยู่ กับข้อความพาดพิงผู้บริหารสถานศึกษา สตรีวิทยา 2 "ไม่ได้เคาะจาน ไม่ต้องกลับมา!"
ทั้งนี้ทั้งนั้น สาเหตุส่วนใหญ่ของการออกมาประท้วง มาจากการบริหารงานที่ "ไร้ความโปร่งใส" และ "ไม่เป็นธรรม" ของ ผอ.ร.ร.! ...จึงเกิดเป็นความฉงนชวนตั้งคำถาม ว่าถึงกาลที่ "ครูไทย" ไร้ความน่าเคารพ??
ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ...พา ผอ.ร.ร.บริหารงานลำบาก!
"ถ้าสังคมเป็นแบบนี้ ผมในฐานะ ผอ.ร.ร.คนหนึ่งก็รู้สึกตกใจ หนักใจ และเห็นใจที่ผู้บริหารที่เสมือนโดนสังคมตัดสินโทษไปแล้ว ในทางกลับกันข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกไป หลายอย่างก็เป็นข้อมูลไม่จริง ซึ่งหลายครั้งที่ตรวจสอบแล้วไม่พบอะไร แต่ไม่มีการเผยแพร่ข่าวในจุดนี้ และต้องชี้แจงว่าระบบตรวจสอบทางวินัยของ ผอ.ร.ร. ขณะดำรงตำแหน่งนั้นเข้มงวดมาก"
เสียงสะท้อนอีกด้านจาก นายชัยสิทธิ์ ดอนท้วม ผอ.ร.ร.ทวีธาภิเศก เอ่ยขึ้นในฐานะผู้บริหารสถานศึกษา พร้อมเผยความรู้สึกว่า การออกมาประท้วงในลักษณะดังกล่าว เป็นเรื่องไม่ควร! เพราะคำว่า "ครู" นั้น ยังศักดิ์สิทธิ์
นายชัยสิทธิ์ ยังกล่าวต่อถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนในปัจจุบัน ถูกประท้วงขับไล่โดยนักเรียนบ่อยครั้งว่า มาจากระบบคัดเลือกที่ใช้การสอบ ซึ่งทำให้ ผอ.ร.ร.หลายคนอายุน้อย 30 ปีต้นๆ ก็ขึ้นเป็นผู้บริหารโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่ไม่มีประสบการณ์และวุฒิภาวะในการบริหารงานมากพอ ขณะที่ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คนที่จะขึ้นเป็น ผอ.ร.ร.ได้ ต้องมีอายุ 40-50 ปี
"สภาพสังคมไทยในปัจจุบัน เป็นสังคมแห่งการตรวจสอบ ไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ ขัดแข้งขัดขา เป็นที่มาของการออกมาประท้วงเด็กนักเรียน ซึ่งมองว่าไม่ได้มาจากตัวเด็กเอง แต่มีมือที่มองไม่เห็นคอยปลุกปั่น เพราะขัดผลประโยชน์กับ ผอ.ร.ร." ผอ.ร.ร.ทวีธาภิเศก กล่าวเสริม
หรือเกมนี้ นร.เป็นแค่ตัวหมาก?!
ไม่ต่างจากทัศนะของ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แม้เจ้าตัวออกปากว่าไม่ขอวิพากษ์ในเรื่องนี้ แต่ก็บอกคร่าวๆ ว่า เรื่องระดมนักเรียนให้รวมตัวชุมนุมเพื่อขับไล่ผู้บริหารมีมาช้านาน และมองว่า "ไม่ได้เป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยของเหล่าวัยใส" แต่หากมีขั้วอำนาจเบื้องหลังคอยสนับสนุน
สอดคล้องกับความคิดของ รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่เล็งเห็นว่า การประท้วงเรียกร้องตั้งแต่ระดับชาติไล่ลงถึงระดับนักเรียน ล้วนมีผู้สนับสนุนเบื้องหลังในด้านดีและไม่ดีทั้งนั้น และการประท้วงของนักเรียนที่ถี่ขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งยังมาจากภาพจำ ที่ได้เห็นการประท้วงจากผู้ใหญ่ในกรณีต่างๆ ผ่านทีวีและสื่อโซเชียล และนำมาใช้เลียนแบบ
...นอกจากกรณีของมือที่สามแล้ว หากลองตั้งข้อสังเกตอย่างใคร่ครวญ ถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ "โซเชียลเน็ตเวิร์ก" ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นอีกหนึ่งชนวน ทำให้เหตุการณ์นักเรียนประท้วงไล่ ผอ.ร.ร. บานปลาย เพราะการพูดคุย ปลุกปั่น ให้ข้อมูลดิสเครดิตอีกฝ่าย ในลักษณะสื่อสารทางเดียวบนโลกเสมือน และยังเป็นช่องทางระดมกำลังพรรคพวกได้ง่าย จากพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับวัยใส ก็กลายเป็น "ดาบสองคม" ที่ทำให้เยาวชนถูกล่อลวง
ต้นตอปัญหา...ระบบคัดกรอง ผอ.ร.ร.มีช่องโหว่
รศ.ดร.พินิติ กล่าวต่อว่า ขณะที่ กลไกคัดเลือก ผอ.ร.ร.ในปัจจุบันโดยวิธีการสอบนั้น อาจคัดคนได้ตามคุณสมบัติที่ตั้งไว้ แต่เรื่องความสามารถและด้านคุณธรรม จริยธรรม อาจมีช่องโหว่ที่ระบบมองไม่เห็น คัดไม่ถึง เพราะสังคมมีคนหลายประเภท ทำให้ ผอ.ร.ร.หลายคนถูกตั้งคำถามในเรื่องดังกล่าว
หัวเรือใหญ่ของ สกศ. ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การกระจายอำนาจจากส่วนกลางลงไปยังหน่วยงานท้องที่ ก็อาจเป็นประเด็นเสริม ที่ทำให้การแก้ปัญหาดังกล่าวทำได้ไม่ทันการณ์ จากเดิมที่กระทรวงศึกษาธิการสามารถเข้าไปดูแลได้ทันท่วงที ก็กลายเป็นอำนาจหน้าที่ของ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษานั้นๆ แทน ในการโยกย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
"สิ่งที่นักเรียนรวมตัวประท้วงกันใหญ่โตนี้ เพราะต้องการเรียกร้องให้สื่อมวลชนเข้าไป พอเป็นข่าว กรณีพิพาทก็จะถูกแก้ได้เร็วมากขึ้น แต่ผมกลับมองว่า วิธีนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีกับใคร ผอ.ร.ร.บางคนต้องตกเป็นจำเลยสังคมก่อนที่จะถูกตัดสินว่าผิดเสียอีก และยังส่งผลกระทบต่อตัวนักเรียนที่ไม่ได้เรียนเพราะออกมาเดินประท้วง การบริหารพัฒนาโรงเรียนก็หยุดชะงัก ซึ่งทางแก้ไขควรหันมาพูดคุย เอาข้อมูลความขัดแย้งมาเปิดเผยดูข้อเท็จจริง และเคารพความคิดเห็นซึ่งกัน" เลขาธิการ สกศ. ชี้
"โปร่งใส" หลักการง่ายๆ แก้ข้อครหา ผอ.ร.ร.
หลากหลายวิธีแก้ปัญหา ที่ทำได้เลยบ้าง ต้องอาศัยเวลาบ้าง แต่หากตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ด้วยการบริหารงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 (สพม.เขต 2) ระบุชัดว่า หากทำได้อย่างในข้างต้น ปัญหานักเรียนออกมาเดินขับไล่ ผอ.ร.ร.ของตนเองคงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
"คุณสมบัติสำคัญที่ ผอ.ร.ร.ยุคใหม่ควรมี คือการบริหารงานการศึกษาอย่างรอบด้าน ลงลึกถึงตัวเด็กนักเรียนและชุมชน ขณะเดียวกันต้องปรับตัว เพิ่มทั้งประสิทธิภาพและศักยภาพของตนเองให้เข้มข้น ที่สำคัญต้องยึดประโยชน์ของนักเรียนให้มากที่สุด" ประธาน สพม.เขต 2 ทิ้งท้าย.
ที่มา ไทยรัฐ 13 ก.พ. 2558