โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากสารพัดแกดเจ็ตไอที กำลังเป็นปัญหาระดับชาติ ส่งผลให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ต้องหามาตรการในการจัดการขยะเหล่านี้เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากมลพิษและสารเคมีที่เกิดจากการทำลายเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์
หนึ่งในมาตรการจัดการ คือการเร่งออกร่าง พ.ร.บ.จัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น โดยวันนี้ คพ.จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เบื้องต้น คพ.ได้จัดทำร่างกฎหมายจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สำหรับเนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้มีคณะกรรมการจัดการซากผลิตภัณฑ์คอยตรวจสอบดูแล การควบคุมผลิตภัณฑ์ การกำหนดผลิตภัณฑ์ที่ถูกควบคุม การควบคุมผู้ผลิตและจัดจำหน่าย การรับคืน การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ การจัดการซาก การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษ และมีการช่วยเหลือด้านภาษี หรือค่าธรรมเนียมในอัตราพิเศษ และมีบทลงโทษทั้งจำคุกและโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นถึงห้าแสนบาท
หนึ่งในอุปกรณ์ที่ถูกนิยามว่าเป็น "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" ที่สร้างปัญหาให้กับระบบการจัดการ ก็คือ "แท็บเล็ตนักเรียน" ตามโครงการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยกเลิกไปแล้ว
"แท็บเล็ต" ที่เคยเป็นนโยบายติดอาวุธทางปัญญาในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่วันนี้กลับกลายเป็นซากขยะและมลพิษที่กำลังสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
ประเมินกันว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มีการแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศไปไม่ต่ำกว่า 2.4 ล้านเครื่อง หรือคิดเป็นงบประมาณ 7,000 ล้านบาท และตลอดเวลาของการแจกแท็บเล็ต มีปัญหาตามมาหลายเรื่อง ทั้งการใช้งานที่ค่อนข้างช้าเมื่อบรรจุเนื้อหาลงไปมาก ตามมาด้วยการสัมผัสหน้าจอก็เริ่มตอบสนองน้อยลง รวมถึงแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพเร็ว
ปัจจุบัน แบตเตอรี่ของแท็บเล็ตล็อตแรก 8.6 แสนเครื่อง เริ่มหมดอายุการใช้งาน และเมื่ออยู่นอกเหนือเงื่อนไขการประกัน หากยังจะใช้งานต่อไปโรงเรียนแต่ละแห่งจะต้องสำรวจค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ เพื่อเสนอของบประมาณซ่อมแซมเอง โดยสนนราคาแบตเตอรี่แต่ละเครื่อง อยู่ที่ 500 บาท
แท็บเล็ตซึ่งมีสถานะเป็นครุภัณฑ์จากโรงเรียนเช่นเดียวกับอุปกรณ์อื่นๆ ที่ ศธ.จัดหาให้โรงเรียนทั่วๆ ไป กำลังกลายเป็นอุปกรณ์ที่ไม่เป็นที่ต้องการ เด็กนักเรียนเริ่มหมดความอยากรู้อยากเห็น รวมถึงหมดสนุกเพราะตัวเครื่องทำงานช้า
ส่วนเนื้อหาและแอพพลิเคชั่นที่บรรจุไว้ในเครื่อง ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องการเรียน ซึ่งก็ทดแทนหนังสือเรียนหรือสื่ออื่นๆ ที่สะดวกกว่าไม่ได้ ทำให้แท็บเล็ตจำนวนมากกว่า 8.6 แสนเครื่องในล็อตแรก ถูกเก็บทิ้งไว้ในตู้ต้องรอวันให้ ศธ.ออกมาประกาศมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการเรื่องนี้
วิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุว่า ปีที่ผ่านมามีขยะจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ประมาณ 2.2 ล้านชิ้น โดยมีแท็บเล็ต ซึ่งมีอายุการใช้งาน 3-5 ปี และอุปกรณ์ส่วนใหญ่เสื่อมสภาพแล้ว มากกว่า 5 แสนเครื่อง มีน้ำหนักรวมทั้งหมด 260 ตัน
"สารตะกั่วจากหลอดรังสีแคโทด ปะเก็น โลหะบัดกรีบนแผงวงจร จะทำลายระบบประสาทส่วนกลางและคู่ขนาน รวมถึงระบบโลหิต ขณะที่ปรอทในสวิตช์และจอภาพแบบแบน หากได้รับในปริมาณสูงจะส่งผลต่อสมอง ตับ ไต ส่วนแคดเมียมจากแผงวงจร แบตเตอรี่ และจอภาพแบบเก่า หากสะสมในร่างกายมากๆ จะทำให้เป็นโรคไต กระดูกผุกร่อน รวมทั้งสารเคมีอีกสารพัดชนิด ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างรุนแรง"
อธิบดี คพ. บอกอีกว่า "แท็บเล็ตแจกนักเรียน" จะต้องตกลงกับผู้ค้าเรื่องมาตรการในการเก็บรวบรวมส่วนที่ใช้งานไม่ได้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการกำจัดอย่างเป็นระบบ ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณา จะเป็นประโยชน์ทันที เนื่องจากจะสามารถเพิ่มความรับผิดชอบให้ผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้มีกระบวนการรวบรวมสินค้าคืน ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่งบังคับในเรื่องนี้ จึงเป็นระเบียบที่บริษัทผู้ผลิต ที่มีสินค้ากลุ่มนี้ขายทั่วโลกคุ้นเคยดีอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้ คพ.เตรียมเร่งผลักดัน กฎกระทรวงอีก 4 เรื่อง คือ 1.กฎกระทรวงการคัดแยก เก็บขน และกำจัดขยะมูลฝอย 2.กฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป 3.กฎกระทรวงอัตราค่าธรรมเนียมการเก็บขน และกำจัดขยะมูลฝอย
และ 4.ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการขนและการกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ สำหรับโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขทุกประเภทและทุกขนาด รวมถึงยกร่างกฎหมายฉบับใหม่คือ พ.ร.บ.การจัดการขยะแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งจะสามารถทำให้จัดการขยะได้ครอบคลุมทั้งระบบ
ที่มา โพสต์ทูเดย์ 16 กุมภาพันธ์ 2558