ก็ลงเอยด้วยดี เมื่อ ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. ออกมาแถลงข่าวร่วมกับ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ มีความเข้าใจตรงกันที่จะร่วมกันดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่ยักยอกเงินของมหาวิทยาลัยไป 1,568 ล้านบาท กับอดีตผู้จัดการสาขาไทยพาณิชย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง
ดร.วิชิต ซีอีโอแบงก์ไทยพาณิชย์ แถลงยืนยัน หากพบความเสียหายที่เกิดขึ้น สืบเนื่องมาจากพนักงานไทยพาณิชย์ ก็จะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เพราะธนาคารไทยพาณิชย์เป็นสถาบันที่มีเกียรติ มีอายุยาวนานถึง 108 ปี
การฉ้อโกงในสถาบันการเงิน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่มีข้อยกเว้น ลูกค้าจึงควรหมั่นตรวจสอบบัญชีเงินฝากของตน จากสเตทเมนต์ที่ธนาคารส่งให้ทุกเดือน แต่กรณีของ สจล. เมื่อมีผู้มีอำนาจเซ็นเช็คสมคบกับผู้จัดการสาขา ทำให้ตรวจสอบยากขึ้น
ในแง่ของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ผมเชื่อพันเปอร์เซ็นต์ว่า ไม่มีธนาคารไหนคิดจะโกงลูกค้า หรือช่วยลูกค้าโกงบริษัท เพราะ ธุรกิจของธนาคารขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นจากลูกค้าเป็นหลัก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 ธนาคารไทยพาณิชย์มีเงินฝากหลายล้านบัญชีกว่า 1.89 ล้านล้านบาท คงไม่มีใครคิดไปทำอะไรกับเงินแค่พันกว่าล้านบาท
ปัญหาจึงอยู่ที่ ผู้มีอำนาจใน สจล. คิดจะโกงเงินของมหาวิทยาลัย
จากการให้สัมภาษณ์ของ ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล. ในช่วงที่เกิดเหตุ และถูกสอบสวนไปแล้ว ทำให้เห็น “จุดอ่อนมหาวิทยาลัยนอกระบบ” อย่างชัดเจน คุณถวิลบอกว่า หลังจาก สจล. เปลี่ยนสถานะจาก มหาวิทยาลัยของรัฐ เป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือ “ออกนอกระบบ” มหาวิทยาลัยก็ต้องบริหารจัดการบัญชี เพื่อให้เกิดรายได้ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อมหาวิทยาลัย หากธนาคารใดให้ดอกเบี้ยสูง ก็จะโยกเงินไปฝากกับธนาคารนั้น ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนธนาคารทุก 3 เดือน 6 เดือน
นี่คือ จุดอ่อนใหญ่ ที่ก่อให้เกิด ผลประโยชน์ที่มองไม่เห็น ได้ง่าย
วันนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐ ส่วนใหญ่ต้องการออกนอกระบบ โดยอ้างว่า เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารการศึกษา แต่ในความเป็นจริง มหาวิทยาลัยรัฐที่ออกนอกระบบแล้ว สามารถหาเงินได้อิสระเสรีทุกรูปแบบ เช่น สร้างหลักสูตรพิเศษเก็บค่าเล่าเรียนคนละหลายหมื่นบาท อาจารย์และผู้บริหารก็ร่ำรวยไปตามๆกัน กำไรเป็นกอบเป็นกำ มหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ จึงกลายเป็นมหาวิทยาลัยที่ร่ำรวย บางแห่งมีเงินฝากธนาคารเป็นหมื่นล้านหรือหลายหมื่นล้านบาท หลายมหาวิทยาลัยเอาแต่สร้างศูนย์การค้าเพื่อหาเงิน แต่กลับไม่สนใจพัฒนาการศึกษาและวิชาการ
ไม่เชื่อ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ลองไปตรวจสอบเงินฝากของมหาวิทยาลัยทุกแห่งดูได้ แล้วนำออกมาเปิดเผยต่อสังคม จะได้เห็นความจริงว่า มหาวิทยาลัยเมืองไทยรวยจริงๆ ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยรัฐที่ออกนอกระบบ ไปจนถึงมหาวิทยาลัยเอกชน
แต่ การศึกษาไทยกลับต่ำเตี้ยลงไปทุกวัน สวนทางกับความร่ำรวยของมหาวิทยาลัย
เงินมหาศาลที่อยู่ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ แต่ไม่มีระบบการตรวจสอบที่รัดกุม เหมือนการตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ จึงทำให้มหาวิทยาลัยทุกแห่ง กลายเป็นแหล่งทำมาหากินอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และเป็นที่มาของการทุจริตที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัย สหกรณ์ออมทรัพย์รัฐวิสาหกิจ ก็เป็นแหล่งทุจริตได้ง่าย เพราะมีเงินเยอะ อย่างที่เกิดขึ้นแล้วกับ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
สหกรณ์รัฐวิสาหกิจบางแห่ง มีเงินฝากสูงถึง 50,000–60,000 ล้านบาท เหมือนเป็นธนาคารพาณิชย์เล็กๆแห่งหนึ่ง แต่กลับไม่มีการตรวจสอบควบคุมที่ชัดเจน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ จะต้องนำไปปฏิรูป ถ้ารวมเงินในสหกรณ์ทุกแห่งทั่วประเทศ ผมว่าน่าจะมีเงินหลายแสนล้านบาท ไม่ใช่น้อยเลยนะครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
ข้อมูลจากคอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย โดย ลม เปลี่ยนทิศ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 16 ก.พ. 2558