งวดเข้ามาทุกขณะสำหรับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่ งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานการศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2558
รอบนี้เปิดสอบทั้งหมด 225 เขต รวมสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เป็น 226 เขต/สศศ. มีอัตราว่างทั้งหมด 4,257 ตำแหน่ง แบ่งเป็นตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา 1,353 ตำแหน่ง แยกเป็น กลุ่มทั่วไป 623 ตำแหน่ง กลุ่มประสบการณ์ 730 ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา 2,904 ตำแหน่ง แยกเป็น กลุ่มทั่วไป 1,397 ตำแหน่ง และกลุ่มประสบการณ์ 1,507 ตำแหน่ง
หลังหมดเขตรับสมัคร ปรากฏว่ามีผู้สมัครทั้งหมด 22,211 ราย
แบ่งเป็น รองผู้อำนวยการสถานศึกษา 6,267 ราย แยกเป็นกลุ่มทั่วไป 4,650 ราย กลุ่มประสบการณ์ 1,617 ราย
ผู้อำนวยการสถานศึกษา 15,944 ราย แยกเป็น กลุ่มทั่วไป 10,625 ราย และกลุ่มประสบการณ์ 5,319 ราย
โดยผู้สมัครรองผู้อำนวยการสถานศึกษามากที่สุด 10 อันดับแรกคือ สพม.1 กรุงเทพฯ จำนวน 159 ราย, สพม.28 (ศรีสะเกษ-ยโสธร) จำนวน 143 ราย, สพม.29 (อุบลราชธานีอำนาจเจริญ) จำนวน 127 ราย, สพม.33 (สุรินทร์) จำนวน 124 ราย, สพม.18 (ชลบุรี-ระยอง) จำนวน 122 ราย, สพม.31 (นครราชสีมา) จำนวน 116 ราย, สพม.12 (นครศรีธรรมราช) จำนวน 113 ราย, สพม.2 กรุงเทพฯ จำนวน 112 ราย, สพม.36 (เชียงราย-พะเยา) จำนวน 110 ราย และ สพม. 20 (อุดรธานี) จำนวน 94 ราย
ส่วนผู้สมัครผู้อำนวยการสถานศึกษามากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ สพป.บุรีรัมย์ เขต 4 จำนวน 244 ราย, สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 จำนวน 216 ราย, สพป.สุรินทร์ เขต 3 จำนวน 194 ราย, สพป.ร้อยเอ็ด เขต 2 จำนวน 191 ราย, สพป.บุรีรัมย์ เขต 2 จำนวน 177 ราย, สพป.อุบลราชธานี เขต 5 จำนวน 175 ราย สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 จำนวน 167 ราย, สพป.ขอนแก่น เขต 5 จำนวน 159 ราย, สพป.อุบลราชธานี เขต 2 จำนวน 155 ราย และ สพป.อุบลราชธานี เขต 3 จำนวน 153 ราย
ทั้ง 226 เขต/สศศ. จะสอบภาค ข การประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่งโดยการประเมินประวัติและผลงานในวันที่ 9-13 กุมภาพันธ์
สอบข้อเขียน ภาค ก ประกอบด้วยความรู้ทั่วไปและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน และความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์
และสอบภาค ค สัมภาษณ์ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์
และประกาศผลการคัดเลือกภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์
การจัดสอบรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา มีข่าวแพร่สะพัดว่าผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ภาคเหนือและภาคตะวันออก จะจัดติว
จึงเป็นที่มาที่ นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ ศธ 04009/ว341 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อำนวยการ สศศ. เพื่อเน้นย้ำการคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานการศึกษา ตลอดจนการคัดเลือกครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ และกรณีทั่วไปที่จะเปิดรับสมัครในวันที่ 23-29 มีนาคม ให้ดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส
โดยเนื้อหาระบุว่า สพฐ. ได้รับทราบข้อมูลว่าข้าราชการในสังกัด สพท. บางแห่งเปิดการกวดวิชา จำหน่ายหนังสือคู่มือเตรียมสอบตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้และได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากบุคคลภายนอกและส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กรที่ดีของ สพฐ. จึงขอห้ามมิให้ผู้อำนวยการ สพท. ผู้อำนวยการ สศศ. รองผู้อำนวยการ สพท. และข้าราชการในสังกัดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำใดๆ ที่มีเจตนาเป็นการกวดวิชา จัดทำเอกสาร จำหน่าย แจก หรือกระบวนการอื่นใดที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สอบโดยเด็ดขาด
และยังมอบให้เขตพื้นที่ฯ และ สศศ. กำหนดบุคคลในทางลับเพื่อตรวจสอบ ติดตามบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวและไม่ให้แต่งตั้งเป็นกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการสรรหา
อีกทั้งให้สอดส่อง กำกับ ดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิดและเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการทุจริต
พร้อมกันนี้นายกมล ได้เรียกประชุมผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อซักซ้อมกระบวนการจัดสอบให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสและยุติธรรม รวมถึงกำชับมาตรการป้องกันการทุจริต ทั้งก่อนสอบ ระหว่างสอบ และหลังสอบ เพื่อให้การสอบคัดเลือกเป็นไปอย่างรอบคอบ เอาใจใส่ ระมัดระวัง ป้องกันความเสี่ยงที่จะมีข้อผิดพลาด
ถ้าพบใครเข้าไปเกี่ยวข้อง นอกจากจะให้ออกจากการเป็นกรรมการสอบแล้ว จะเรียกตัวมาประจำที่ส่วนกลาง และตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามระเบียบต่อไป ขณะเดียวกัน จะตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนที่ส่วนกลาง โดยมี นางรัตนา ศรีเหรัญ รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นผู้ดำเนินการ
ที่สำคัญ นายกมล ได้เรียกผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ภาคเหนือและภาคตะวันออก ที่เตรียมเปิดติว มาปรามเป็นการส่วนตัว ซึ่งฝ่ายนั้นก็เข้าใจและรับปากจะไม่ได้ดำเนินการต่อ
"การสอบครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มอบหมายให้ สพฐ. เป็นผู้ออกข้อสอบภาค ก ส่วนการสอบภาค ข และภาค ค ให้เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้ดำเนินการ สพฐ. ได้ติดต่อมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านศึกษาศาสตร์เป็นผู้ออกข้อสอบ จัดส่งข้อสอบ และประมวลผลสอบ ข้อสอบที่ใช้จะมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน แต่จะมีหลายฉบับ เพื่อป้องกันกรณีที่หากมีพื้นที่ใดเกิดปัญหา พื้นที่อื่นก็ยังสามารถใช้ข้อสอบในพื้นที่ของตัวเองได้ ความพิเศษอีกอย่าง คือ สพฐ. เปิดสอบทุกเขตพื้นที่ฯ ที่มีอัตราว่าง ไม่เว้นแม้กระทั่งโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คนที่ยังว่างอยู่ด้วย" เลขาธิการ กพฐ. ระบุ
คงต้องติดตามดูว่าสารพัดมาตรการที่ สพฐ. งัดออกมาใช้ จะสามารถป้องกัน ป้องปรามและแก้ไขปัญหาการทุจริตสอบรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาได้หรือไม่ เพราะทั้งๆ ที่เลขาธิการ กพฐ. รับรู้ว่าผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ใดเตรียมทำผิด แต่ก็แค่เรียกมาปราม อ้างว่ายังไม่ถือว่ากระทำความผิด...
จากนี้ต้องจับตาดูว่าการสอบผู้บริหารสถานศึกษาครั้งนี้ จะปราศจากการทุจริตหรือไม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบททดสอบของ สพฐ. และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะกำกับดูแล ศธ.
ภายหลังเกิดการทุจริตครั้งมโหฬารมาแล้วกับการสอบครูผู้ช่วย ว12 เมื่อปี 2556
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ก.พ. 2558