โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
ผมเคยแสดงความเห็นไปบ้างแล้ว เรื่องที่มีการเสนอแนวคิดให้จัดตั้งซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา โดยตั้งประเด็นถามว่าแนวทางปฏิรูปที่เริ่มต้นกลับไปที่การปรับโครงสร้างองค์กรบริหารกันใหม่ก่อน เป็นคำตอบที่ถูกต้อง ทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น ส่งผลถึงเด็ก ครู และโรงเรียนจริงหรือ
ถึงวันนี้ยังพูดกันไม่จบ สมาชิกสภาปฏิรูปบางคนยังยืนยันความคิดเพื่อเป็นตัวช่วยให้กระทรวงศึกษาฯกระจายอำนาจการบริหาร ซึ่งกฎหมายการศึกษาเขียนไว้แล้วแต่ไม่ทำ จึงต้องมีคณะกรรมการเหมือนซุปเปอร์บอร์ดเรื่องการศึกษา มาดูแลพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งที่สำคัญ เช่น ปลัด อธิบดี หรือข้าราชการกระทรวงศึกษาฯระดับ 10 ขึ้นไปเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการเซ็นอนุมัติ
ครับ ฟังแล้วก็สับสน อย่างน้อย 2 ประการ 1.สาเหตุที่กระทรวงศึกษาฯไม่กระจายอำนาจเท่าที่ควร เพราะข้าราชการประจำระดับสูง หรือเพราะฝ่ายการเมืองผู้กำหนดนโยบายไม่เอาจริงเอาจัง เรียงลำดับประเด็นหลักรองที่ต้องทำไม่ถูก หรือด้วยกันทั้งสองฝ่าย
2.ตกลงซุปเปอร์บอร์ดทำหน้าที่อะไรกันแน่
เป็นคณะที่ปรึกษากลั่นกรองงานและตัวบุคคล ทำหน้าที่กรรมการบริหารงานบุคคลระดับสูงชั้นต้นให้ฝ่ายการเมือง ทั้งๆ ที่ถ้าเป็นข้าราชการพลเรือนก็มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก็มีคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) วางหลักเกณฑ์ กฎ กติกา ใช้ปฏิบัติตลอดมาอยู่แล้ว
ฉะนั้นถ้ายังยืนยัน เชื่อมั่นความคิดให้มีซุปเปอร์บอร์ดขึ้นมาจริงๆ ต้องพูดคุย ตกลงกันให้ชัดเสียก่อนว่า ภารกิจที่ควรจะเป็นคืออะไร
ที่สำคัญรับฟังความคิด ความเห็นของผู้ปฏิบัติ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ สะท้อนออกมาว่าอย่างไรในเรื่องนี้
ขณะเดียวกัน มีอีกแนวคิดหนึ่งที่เห็นว่า ซุปเปอร์บอร์ดควรทำหน้าที่ติดตาม กำกับ ผลักดันสิ่งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านการศึกษาที่สำคัญ 7 เรื่อง
โดยเฉพาะข้อที่ 7 นโยบายการศึกษาต้องมีความต่อเนื่อง มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้และปราศจากการแทรกแซงใดๆ จากกลุ่มผลประโยชน์
ซุปเปอร์บอร์ดมีขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันให้การดำเนินนโยบายทางการศึกษาต่อเนื่อง และสกัดการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองทุกเรื่อง ว่างั้นเถอะ
นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นกรรมการกลางระดับชาติ ประสานนโยบายด้านการศึกษากับด้านอื่นๆ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯและรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลและกำหนดทิศทางการศึกษาและผลิตกำลังคนตามต้องการของประเทศ
ถ้าภารกิจเป็นอย่างที่ว่านี้ ก็เกิดคำถามอีกว่า แล้วนโยบายด้านอื่นๆ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง การต่างประเทศ การทหาร ต้องมีซุปเปอร์บอร์ดขึ้นมาคอยติดตาม กำกับผลักดันด้วยหรือไม่ เกิดองค์กรฝ่ายบริหารซ้ำซ้อน สองชั้นสามชั้น อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อย่างนั้นหรือ
ตกลงซุปเปอร์บอร์ดจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย หรือผู้กำกับฝ่ายการเมืองกันแน่
หรือว่าเป็นผู้ช่วยในเรื่องการบริหารงานบุคคลระดับสูง แต่เป็นผู้กำกับในเรื่องนโยบายให้ต่อเนื่อง ไม่ให้ปรับเปลี่ยนง่ายๆ ไปตามใจชอบ
ที่ผ่านมาระบบบริหารระดับสูงมีคณะรัฐมนตรีชุดใหญ่เป็นองค์กรสูงสุดในการตัดสินให้ความเห็นชอบ รองลงไปมี ครม.เศรษฐกิจ และบางสมัยมี ครม.สังคม เหตุใดไม่ให้ ครม.สังคม ทำหน้าที่ซุปเปอร์บอร์ด ซึ่งองค์ประกอบที่มีก็เชื่อมโยงกันอยู่แล้วทุกด้าน ทั้งการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม สังคม แรงงาน สาธารณสุข มหาดไทย
นอกจากระดับคณะรัฐมนตรีแล้ว องค์กรวางแผน นโยบายที่ยังมีบทบาทอยู่ก็คือ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ถ้าคิดว่า ครม.สังคมสูงเกินไป บอร์ดสภาพัฒน์ก็ควรทำหน้าที่ซุปเปอร์บอร์ดตามแนวคิดที่ว่านี้ได้ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาเน้นบทบาทด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ด้านสังคม การศึกษา และอื่นๆ กลายเป็นเพียงส่วนประกอบ สภาพปัญหารวยกระจุก จนกระจาย ความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม จึงดำรงอยู่ยาวนานจนถึงขณะนี้
เกิดมีซุปเปอร์บอร์ดขึ้นมา คณะรัฐมนตรีชุดใหญ่คงแตกแยกย่อยออกเป็นแม่น้ำสายใหม่ ครม.น้อยด้านการศึกษาคุมซุปเปอร์บอร์ดอีกชั้นหรือไม่ หรือบอร์ดสภาพัฒน์ควรแยกออกเป็น 2 สาย เพิ่มด้านสังคม การศึกษา ทำหน้าที่ซุปเปอร์บอร์ดที่ว่ากัน
ด้านบริหารงานบุคคล หากต้องมีซุปเปอร์บอร์ดช่วยกลั่นกรองการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงด้านการศึกษา แล้วข้าราชการระดับสูงกระทรวงด้านอื่น มหาดไทย สาธารณสุข ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมามีการแทรกแซงกันมาตลอด จำเป็นต้องมีซุปเปอร์บอร์ดทำหน้าที่ทั้งเป็นตัวช่วยและทัดทานการแทรกแซงแบบเดียวกันหรือไม่
กลไก กติกา ที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลวางไว้จนถึงชั้นคณะรัฐมนตรี ต้องทบทวนปรับเปลี่ยนกันครั้งใหญ่
ปฏิรูปการศึกษา ถ้าเริ่มกันใหม่ที่จุดนี้ ถึงเวลาลงมือปฏิบัติ ต้องเสียเวลาและงบประมาณไปกับการโยกย้าย ถ่ายโอนงานและคนกันอีกครั้ง คุณภาพการศึกษาไทย นักเรียน ครู ก็ยังรั้งท้ายอันดับ 7 ของอาเซียนเหมือนเดิม
(ที่มา:มติชนรายวัน 12 ก.พ.2558)