สสค.เปิดผลสอบนานาชาติปี 55 พบเด็กไทยตกคณิตฯ กว่าครึ่งประเทศ ห่วง 60% ไม่ศึกษาต่อ เลือกเรียนไม่ตรงสาขาที่ประเทศต้องการ ชี้เหตุหลักมาจากความเหลื่อมล้ำทางฐานะ สัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แนะทางแก้เตรียมความพร้อมให้เด็ก
จากกรณี ผู้แทนองค์การยูเนสโก เดินทางเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์เด็กและเยาวชนของประเทศไทยนั้น
วันที่ 11 ก.พ. นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค.กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดที่ได้นำเสนอต่อองค์การยูเนสโก คือการวัดผลระดับนานาชาติผ่านการสอบ PISA ปี 2555 ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15 ปี ซึ่งพบว่าเยาวชนไทยเกือบครึ่งประเทศสอบตกวิชาคณิตศาสตร์ มีเพียง 8% เท่านั้นที่ได้คะแนนระดับดี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
จากข้อมูลของมูลนิธิกองทุนไทย ปี 2554 พบว่า ครัวเรือนไทยถึง 50% มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน โดยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 4,300-13,774 บาท คิดเป็นสัดส่วนการถือครองรายได้รวม 19% ของประเทศ ขณะที่ครัวเรือนราว 10% ที่มีรายได้สูงสุดมีรายได้เฉลี่ย 90,000 บาท/เดือน กลับถือครองรายได้รวมของประเทศถึง 38% ซี่งถือเป็นกลุ่มที่ครองรายได้ถึง 2 เท่า ของประชากรครึ่งประเทศ
“ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษา กลายเป็นกลุ่มเดียวกับคนที่เผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ กล่าวได้ว่าเป็นปัญหาที่ซ้อนทับกันอยู่เป็นคู่แฝด ดังนั้น การแก้ปัญหาคุณภาพเด็กไทย จึงต้องแก้ให้ลึกถึงรากของปัญหา ทั้งความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา โดยมีมาตรการที่ไม่ให้ความยากจนเป็นอุปสรรคของโอกาสทางการศึกษา” ผู้จัดการ สสค.แจงเพิ่ม
นพ.สุภกร กล่าวว่า นอกจากนี้ สถานการณ์เด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบัน พบว่า ในจำนวนเด็กที่เกิดในรุ่นเดียวกันในแต่ละปี มีถึง 60% ที่ยุติการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือประกาศนีบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือต่ำกว่า มีเพียง 40% เท่านั้นที่ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และเมื่อเด็กส่วนใหญ่ไปไม่ถึงระดับอุดมศึกษา ขณะที่หลักสูตรการเรียนการสอน มักมุ่งเพื่อเตรียมเด็กเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย จึงมีคำถามว่า โรงเรียนได้เตรียมความพร้อมให้แก่เด็ก 60% ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานนี้อย่างไร
นพ.สุภกร กล่าวต่อว่า ที่สำคัญเยาวชนไทย แม้จะเลือกเรียนสายอาชีวศึกษา แต่เป็นการเลือกเรียนในสาขาบัญชี ธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่สาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน ที่ต้องการด้านช่างเทคนิค ขณะที่คนที่เรียนจบไปแล้ว ก็กลายเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่มีนายจ้างหรือสวัสดิการใดๆ รองรับคุณภาพชีวิตสูงถึง 60%
"สสค.กำลังพัฒนาการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับจังหวัด เพื่อให้เกิดระบบข้อมูลความต้องการของตลาดแรงงานร่วมกับภาคธุรกิจ ก่อนนำมาปรับหลักสูตรในโรงเรียนให้ตอบสนองกับตลาดแรงงานในท้องถิ่น รวมถึงศึกษาพัฒนาระบบผลิตครูแนะแนว ที่จะส่งผลในเรื่องการให้คำปรึกษา ไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบศึกษาของไทยก่อนวัยอันควร พร้อมแนะนำเรื่องการประกอบอาชีพ หากไม่ได้เรียนต่อชั้นอุดมศึกษา การหลุดออกจากระบบและการแนะนำอาชีพต่อไป" ผู้จัดการ สสค.ระบุ
ที่มา ไทยรัฐ 11 ก.พ. 2558