Advertisement
โอ้โห! “กิ้งกือมังกรสีชมพู” สัตว์ตัวจิ๋วแต่แจ๋ว เพราะสร้างชื่อให้ประเทศไทยด้วยการติดอันดับโลกของสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ในโลก นักวิจัยเผยพบในไทยเพียงแห่งเดียว แต่ไม่ระบุจังหวัด หวั่นถูกมนุษย์จับไปขายต่างชาติที่พิสมัยสัตว์แปลกพิสดาร หวังคนสนใจกิ้งกือไส้เดือนมากขึ้นเพราะเป็นสัตว์หน้าดินที่มีประโยชน์ยิ่ง..แต่น่าขยะแขยงที่สุดเหมือนเกลียดใครบางคน..นะว่ามั้ย?
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) แถลงข่าวสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของไทยที่ติดอันดับโลกเป็นครั้งแรก จากการค้นพบ "กิ้งกือมังกรสีชมพู" (Shocking Pink Millipede) โดยกลุ่มสมาชิกชมรมคนรักกิ้งกือ และศึกษาวิจัยจนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติโดยคณะวิจัยของ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2551 ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนอื่นๆ ได้ร่วมในงานแถลงด้วย
ศ.ดร.สมศักดิ์ เปิดเผยว่า คนทั่วไปมักไม่ค่อยชอบและไม่สนใจสิ่งมีชีวิตจำพวกกิ้งกือและไส้เดือน และมีไม่น้อยที่สัตว์เหล่านี้ถูกคนส่วนใหญ่เหยียบตายอย่างไม่ใยดี เพราะไม่เป็นคุณค่าและประโยชน์ของพวกเขา อีกทั้งบางส่วนยังเข้าใจผิดว่ากิ้งกือกัดคนได้ แท้ที่จริงแล้วไม่มีกิ้งกือชนิดไหนที่กัดคนจนเป็นอันตรายได้ อีกทั้งกิ้งกือไส้เดือนเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก จึงเกิดการรวมกลุ่มเป็นชมรมคนรักกิ้งกือและพยายามเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไปให้เห็นความสำคัญของกิ้งกือด้วย ซึ่งศ.ดร.สมศักดิ์ ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกและอุปนายกของชมรม
กิ้งกือมังกรสีชมพูถูกค้นพบโดยสมาชิกในชมรมคนรักกิ้งกือเมื่อเดือน พ.ค. 2550 พบในบริเวณป่าเขาหินปูนแถบภาคกลางตอนบนต่อกับภาคเหนือตอนล่าง และพบในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก เมื่อ ศ.ดร.สมศักดิ์ นำมาศึกษาวิจัยภายใต้โครงการวิจัยกิ้งกือและไส้เดือนดิน และร่วมกับ ศ.เฮนริค อิงฮอฟ (Henrik Enghoff) ผู้เชี่ยวชาญด้านกิ้งกือมือหนึ่งของโลกแห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก พบว่าเป็นกิ้งกือชนิดใหม่ของโลกและให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เดสโมไซเตส เพอร์พิวโรเซีย (Desmoxytes purpurosea) และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ ซูแทกซา (Zootaxa) ตั้งแต่ปี 2550
กระทั่งเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2551 สถาบันไอไอเอสอี (International Institute for Species Exploration: IISE) มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา (Arizona State University) สหรัฐฯ ประกาศให้กิ้งกือมังกรสีชมพูเป็นสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่อันดับที่ 3 ของโลก รองจากการค้นพบปลากระเบนไฟฟ้าในแอฟริกาและการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ปากเป็ดอายุ 75 ล้านปี ในสหรัฐฯ ซึ่งได้อันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
เหตุที่ได้ชื่อว่ากิ้งกือมังกรสีชมพูนักวิจัยอธิบายกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนว่า เพราะอยู่ในวงศ์กิ้งกือมังกรหรือพาราดอกโซโซมาติดี (Paradoxosomatidae) และมีสีชมพูสดใสแบบช็อคกิงพิงค์ (shocking pink) และมีลักษณะโดดเด่นด้วยลวดลายและปุ่มหนามคล้ายมังกร พบได้ในป่าที่มีความชุ่มชื้นสูงและอุดมสมบูรณ์ เมื่อโตเต็มวัยจะมีลำตัวยาวประมาณ 7 ซม. มีจำนวนปล้องราว 20-40 ปล้อง และสามารถขับสารพิษประเภทไซยาไนด์ออกมาจากต่อมขับสารพิษข้างลำตัวเพื่อป้องกันตนเองจากศัตรูธรรมชาติจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู
อย่างไรก็ดี ศ.ดร.สมศักดิ์ เตือนว่าสารไซยาไนด์ที่กิ้งกือมังกรสีชมพูขับออกมามีปริมาณน้อยเกินกว่าที่จะเป็นอันตรายต่อคนได้ แต่ทางที่ดีก็ควรป้องกันไว้ก่อนโดยไม่ไปแตะต้องหากพบเห็นในธรรมชาติ
ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถามย้ำอีกครั้งว่าสถานที่ค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพูแห่งแรกอยู่ในจังหวัดใด นักวิจัยบอกว่าไม่อยากระบุให้ชัดเจน เนื่องจากกังวลว่ากิ้งกือชนิดนี้จะถูกรบกวนจากกลุ่มบุคคลที่ลักลอบจำหน่ายสัตว์แปลกประหลาดหายาก ศ.ดร.สมศักดิ์ บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่ากิ้งกือมังกรสีชมพูนี้ถูกตั้งราคาขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตไว้ประมาณ 30 ยูโร หรือราว 1,500 บาท
ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าการค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพู นักวิจัยในโครงการวิจัยกิ้งกือและไส้เดือนดิน เคยพบกิ้งกือชนิดใหม่ของโลกมาแล้วหนึ่งชนิดคือกิ้งกือหินปูนใน จ.สระบุรี เมื่อปี 2549 ซึ่งขณะนี้ก็กำลังศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากกิ้งกือในการทำปุ๋ยอินทรีย์อยู่ด้วย
ศ.ดร.สมศักดิ์ บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์อีกว่าการค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพูติดอันดับโลกจะสร้างชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความสามารถ ประเทศไทยยังมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์อยู่อีกมาก
ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผอ.โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (บีอาร์ที) กล่าวเพิ่มเติมว่า สัตว์หน้าดินขนาดเล็กอย่างกิ้งกือและไส้เดือนช่วยทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุอาหารต่างๆ ได้ ทำให้เกิดปุ๋ยอินทรีย์ตามธรรมชาติ และมีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบนิเวศน์ ถือได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตพื้นฐานที่สร้างความมั่นคงให้กับดิน น้ำ และระบบนิเวศน์ เป็นฐานในการพัฒนาด้านการเกษตรที่จะพัฒนาประเทศชาติต่อไป
Credit : www.manager.co.th 10/06/51
- Link 10 อันดับทั้งหมด ของสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ค่ะ http://species.asu.edu/topten2008.php (ด้วงอันดับ 9 เท่ดีนะ)
ป.ล. ตัวละ 1,500 บาทแนะ ! เพิ่งค้นพบเจอปุ๊ป จะได้สูญพันธุ์ปั๊ปละมั่งงานนี้ 555+
(สวยซะด้วยซิ...แต่ก็กิ้งกืออยู่ดี..ยี๊ยยส์..แหวะ!)
วันที่ 28 มี.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,217 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,134 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 48,361 ครั้ง |
เปิดอ่าน 54,464 ครั้ง |
เปิดอ่าน 212,146 ครั้ง |
เปิดอ่าน 20,558 ครั้ง |
เปิดอ่าน 19,963 ครั้ง |
|
|