ความคืบหน้ากรณีที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการโอนพนักงานส่วนท้องถิ่นและข้าราชการอื่น มาบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครู ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อาทิ ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มีประสบการณ์สอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี เป็นต้น
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นายสรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการปกครองท้องถิ่น และนายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เห็นด้วยที่ ศธ.จะรับโอนพนักงานและข้าราชการสังกัดท้องถิ่นไปเป็นครูสังกัด สพฐ. ซึ่งคาดว่าจะมีผู้สนใจบางส่วนจะโอนย้ายตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด แต่ตั้งข้อสังเกตว่าการยกระดับคุณภาพการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขนาดใหญ่ หลายพื้นที่ มีการประเมินออกมาพบว่ามีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนมากกว่า สพฐ. โดยนำบุคลากรทางศึกษาที่มีคุณภาพสูงมาสอนให้เหมาะสมกับความต้องการของท้องถิ่น
นายสรณะกล่าวต่อว่า อนาคตจะมีการปรับโครงสร้างของระบบการบริหารบุคคลให้มีการถ่ายโอนระหว่างระบบราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และ อปท. มากขึ้นภายหลังการปฏิรูปการเมืองจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์การโอนย้ายบุคลากรจากท้องถิ่นไปหน่วยงานอื่นมากขึ้นจะแตกต่างจากในอดีตที่อาจไม่ได้เปิดกว้างนัก
นายอำพล ยุติโกมินทร์ อดีตเลขาธิการสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากมีการแก้ไขกฎหมายและมีความชัดเจนในการโอนย้าย เชื่อว่าจะมีบุคลากรของท้องถิ่นย้ายโอนไปสังกัด สพฐ. แต่ทราบว่ากรณีดังกล่าวยังต้องผ่านความเห็นชอบอีกหลายขั้นตอน เนื่องจาก ศธ.ต้องการปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับ อปท. ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการให้อำนาจ อปท.จัดการศึกษา แต่มีเงื่อนไขต้องผ่านการประเมินความพร้อมตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติทำให้ อบต.จำนวนมากไม่มีโอกาสจัดการศึกษาหรือรับการถ่ายโอนตามแผนขั้นตอนกระจายอำนาจ แต่หากอนาคตการกระจาย อำนาจให้ อปท.ที่มีความพร้อมจัดการศึกษาได้เองจะเป็นทางเลือกให้ผู้ปกครองในท้องถิ่นตัดสินใจว่าจะนำบุตรหลานของตัวเองไปเรียนโรงเรียนที่สังกัด อปท.หรือ สพฐ.
นางจรี วัชรวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบ่อนอก (ทองวิทยา) อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การโอนครู ผู้บริหารข้ามสังกัด ปัจจุบันมีแนวทางการปฏิบัติแต่อยู่ที่อำนาจของผู้บริหารต้นสังกัดจะยินยอมหรือไม่ ซึ่งในอนาคตคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องโอนย้ายข้ามสังกัด เพียงแต่มีการเกื้อกูลด้านบุคลากรเพื่อให้ระบบการศึกษามีประสิทธิภาพ ทุกหน่วยงานต้องช่วยเหลือกัน ปรับแต่ความก้าวหน้าในวิชาชีพให้มีมาตรฐาน ครูทั้งระบบในทุกสังกัดควรใช้ฐานเงินเดือนเละระเบียบ กฎเกณฑ์ร่วมกัน
ด้านนายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าวถึงความคืบหน้าการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือร่วมกับ พล.ร.อ.ณรงค์ โดยนายยงยุทธได้ย้ำว่าอยากให้ ศธ.เดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ซึ่งคิดว่ารองนายกฯค่อนข้างให้ความสำคัญ เพราะไม่ได้มองเฉพาะประเด็นแยกโครงสร้างเท่านั้น แต่เป็นการทำให้ระบบอุดมศึกษาสามารถพัฒนาศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็น คือทำหน้าที่ผลิตคนเพื่อพัฒนาประเทศ และเท่าที่ทราบสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ส่งร่างดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) วันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ จะย้ำเรื่องการเพิ่มศักยภาพมหาวิทยาลัยให้สามารถจัดการศึกษา รวมถึงทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศให้มากขึ้น นอกจากนี้ จะหารือเรื่องการวางระบบธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะต้องทำ 2 ทาง ทั้งระบบธรรมาภิบาลภายในมหาวิทยาลัยเอง และระบบธรรมาภิบาลจากภายนอก คือรัฐเข้าไปมีส่วนในการกำกับดูแล ซึ่งมีหลายแนวทาง
"แนวทางหนึ่งที่คิดไว้ คือจะขอให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) หารือกับคณะกรรมการ กกอ.ตั้งอนุกรรมการธรรมาภิบาลใน กกอ. และผมจะไปหารือกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเรื่องการสร้างระบบธรรมาภิบาลในการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งการได้มาซึ่งอธิการบดี นายกสภามหา วิทยาลัย กรรมการสภาฯ รวมถึงกติกาต่างๆ ที่ต้องดูในเชิงระบบ ซึ่งอยากให้มหาวิทยาลัยช่วยกันคิด และวางแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน" นายกฤษณพงศ์กล่าว
นายศักริน ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สปช. กล่าวว่า กรณีมี สปช.บางคนเสนอให้ตั้งคณะกรรมการ หรือซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา และให้มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหาร ศธ.นั้น ตามหลักการแล้วซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษาจะมีหน้าที่ดูแลภาพรวมนโยบายในเรื่องการจัดการศึกษาให้มีความต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามนโยบายของพรรคการเมือง จนส่งผลให้การศึกษาไม่เกิดการพัฒนาเช่นที่ผ่านมา ส่วนจะเข้าไปมีส่วนในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ด้วยหรือไม่นั้น เป็นเรื่องรายละเอียดที่ยังต้องหารือ และขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ
ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 12 ก.พ. 2558 (กรอบบ่าย)