การศึกษาถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน ความสำคัญด้านการศึกษาปรากฏในแผนงานการ จัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (A BlueprintSocioCultural Community : ASCC Blueprint) ซึ่งผู้นำอาเซียนได้ให้ การรับรองในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๔ เมื่อปี ๒๕๕๒ โดยให้ความสำคัญต่อการสร้างสังคมฐานความรู้และให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรก มุ่งเสริมสร้าง วิถีชีวิตที่ดีของประชากรในภูมิภาคด้วยการให้ความสำคัญกับ การศึกษาและการสร้างโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริมการลงทุนในด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
รัฐบาลไทยจึงได้กำหนดนโยบายที่สำคัญในเรื่องนี้ไว้ ได้แก่ การนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ อย่างสมบูรณ์ โดยสร้างความพร้อมและความเข้มแข็ง ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม การเมือง และความมั่นคง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน โดยร่วมมือกับภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ สอดคล้องตามความต้องการของ ภาคการผลิตและบริการ
สำหรับนโยบายของรัฐบาล (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคุรุสภากล่าวคือ "การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ เตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมที่มีความหลากหลาย โดยสร้างความ เข้มแข็งและความพร้อมแก่แรงงานไทยและร่วมพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมของแรงงานอาเซียน สนับสนุนการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน วัฒนธรรมสากล และการสร้างสรรค์งานศิลปะและวัฒนธรรมที่เป็นสากล เพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและเพื่อการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก" การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งมีผลใช้บังคับอย่างเต็มที่ ณ สิ้นปี ๒๕๕๘ จะเกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก หากประเทศไทยเตรียมการในเรื่องต่างๆ ให้พร้อม
คุรุสภาในฐานะสภาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา และ องค์กรวิชาชีพทางการศึกษาของประเทศ ตามพระราชบัญญัติ สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๖ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมในด้านการศึกษาเนื่องจากครูเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา คุรุสภาจึงได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนวิชาชีพครูและองค์กรวิชาชีพสู่อาเซียนและนานาชาติของคุรุสภาขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินภารกิจในการ ขับเคลื่อนวิชาชีพครูและองค์กรวิชาชีพให้เป็นที่ยอมรับในระดับอาเซียนและนานาชาติ ๕ มิติ ดังนี้
มิติที่ ๑ ด้านมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา ได้แก่
๑.๑ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมีคุณสมบัติตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา ปฏิบัติตนอยู่ในจรรยาบรรณของวิชาชีพ และปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ
๑.๒ เร่งศึกษาและจัดทำมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพทางการศึกษาสากล เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในอาเซียนมีมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพอยู่ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
มิติที่ ๒ ด้านทะเบียนและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ได้แก่ การประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนในการ จัดทำใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสากล เพื่อเป็นหลักฐานแสดงตนของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในประเทศไทย และเพื่อความสะดวก ในการตรวจสอบติดตามข้อมูลการพัฒนา การเคลื่อนย้ายของ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในประชาคมอาเซียน
มิติที่ ๓ ด้านการพัฒนาวิชาชีพและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ได้แก่
๓.๑ เร่งรัดดำเนินจัดทำห้องสมุดวิชาชีพทางการศึกษาเสมือนจริง (Virtual Library) ที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถรองรับการใช้งานของผู้ประกอบวิชาชีพจำนวนมากพร้อมกันได้ เป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยด้านวิชาชีพในระดับอาเซียนและเก็บรักษาเอกสารทางวิชาการต่างๆ
๓.๒ ปรับปรุงระบบการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาต่อเนื่อง สู่มาตรฐานอาเซียน เพื่อรักษาและดำรงไว้ซึ่งคุณภาพและมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
มิติที่ ๔ ด้านการยกย่องวิชาชีพและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ได้แก่ การพัฒนากระบวนทัศน์และรางวัลการยกย่องเชิดชูเกียรติ ของคุรุสภาให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล เพื่อยกระดับรางวัลการยกย่องเชิดชูเกียรติรางวัลของคุรุสภาให้เป็นที่ยอมรับในระดับอาเซียน ยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้ทุ่มเทปฏิบัติงาน และมีผลงานดีเด่นอันก่อเกิด คุณประโยชน์ต่อวงการศึกษาและการพัฒนาคนในวงกว้าง สมควรได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพครู และการพัฒนาการศึกษาของประเทศ และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดี ด้านการศึกษาระหว่างนานาประเทศ
มิติที่ ๕ ด้านการพัฒนาบุคลากรและยกระดับสภาวิชาชีพ ได้แก่
๕.๑ การพัฒนาทักษะด้านภาษาและเทคโนโลยีของบุคลากรรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียนให้กับบุคลากรของสภาวิชาชีพ และพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง
๕.๒ ยกระดับดำเนินงานตามภารกิจของสภาวิชาชีพ ให้เป็นที่ ยอมรับในสังคม เพื่อพัฒนาระบบงานของสำนักงานเลขาธิการ คุรุสภาให้มีผลิตภาพรองรับต่อการดำเนินงานตามภารกิจ สนองตอบต่อความต้องการและความคาดหวังของสังคม
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 12 ก.พ. 2558 (กรอบบ่าย)