วันนี้ (9 ก.พ.) ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวถึงเสียงสะท้อนเกี่ยวกับผู้ประเมินของ สมศ.ที่หลายคนมองว่าไม่มีความเป็นมืออาชีพ ว่า ผู้ประเมินของ สมศ. ทุกวันนี้ คือ ผู้ประเมินที่ทำหน้าที่เข้าไปประเมินสถานศึกษาต่างๆตั้งแต่การประเมินคุณภาพภายนอกรอบแรก ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงมาก ดังนั้น หากจะวิจารณ์ว่า ผู้ประเมินด้อยประสบการณ์และไม่มีความเป็นมืออาชีพคงเป็นการวิจารณ์ที่ผิด อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า สมศ.ใช้ผู้ประเมินกว่า 3,000 คน ถ้าหากมีผู้ประเมิน 1-2 คนที่ทำงานผิดพลาดไป หรือด้อยคุณภาพ หรือทำงานไม่เป็นที่พอใจเสียงตรงนี้ก็จะดังขึ้นมาทั้งที่ผู้ประเมินส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในระดับมาตรฐานที่ดีมาก และกว่าจะได้มาเป็นผู้ประเมินของ สมศ. ก็ต้องผ่านทั้งการอบรม และการสอบหากสอบผ่านจึงจะได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประเมิน
"ผู้ที่มีสิทธิจะมาเป็นผู้ประเมินของ สมศ.นั้น ต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ สมศ.กำหนด จึงจะมีสิทธิสมัครเข้ารับการอบรม และสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประเมิน โดยใบอนุญาตฯ จะมีอายุ 3 ปีซึ่งในระหว่าง 3 ปีที่ผู้ประเมินครอบครองใบอนุญาตฯ ทุกคนต้องรักษาสภาพด้วยการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยจะมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า จะต้องเข้ารับการอบรม หรือ เข้าร่วมประชุมวิชาการอย่างน้อยกี่ชั่วโมงต่อปี และเมื่อครบ 3 ปีก็ต้องมาสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตใหม่ ซึ่งกว่าจะมาเป็นผู้ประเมินได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ" ผอ.สมศ. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม สมศ. เพิ่งจะเริ่มสร้างผู้ประเมินใหม่ในการประเมินฯรอบสาม เพื่อมาทดแทนในส่วนที่ขาดไป ตรงนี้จึงเป็นจุดหนึ่งที่เรากำลังพัฒนาหลักสูตรอบรมผู้ประเมิน และกระบวนการคัดเลือกผู้ประเมินอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะคัดเลือกผู้ประเมินที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งตนเชื่อว่ากระบวนการเหล่านี้จะทำให้ทุกคนมั่นใจในเรื่องคุณภาพของผู้ประเมินได้
ที่มา เดลินิวส์ วันจันทร์ 9 กุมภาพันธ์ 2558