จากกรณี อธิบดีกรมการปกครองออกหนังสือ เลขที่ มท.0304/ว 1515 ลงวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่องแนวทางการใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารของทางราชการกรมการปกครอง โดยห้ามใช้คอมพิวเตอร์ราชการ รวมทั้งโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของตนเองเล่นโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ หรืออีเมล์ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน เนื่องจากที่ผ่านมา มีข้าราชการนำคอมพิวเตอร์ของทางราชการไปใช้เขียนข้อความที่ไม่เหมาะสม จึงต้องออกคำสั่งป้องกันไว้ก่อน
ต่อมา แฟนเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “ทนายคลายทุกข์” ได้นำคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2557 มาเผยแพร่ โดยเนื้อหาเกี่ยวข้องกับลูกจ้างผู้ใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารในสถานที่ทำงานที่ซึ่งเป็นของนายจ้าง พร้อมข้อความระบุว่า “มีหลายท่านสอบถามมายังทนายคลายทุกข์ว่า ถ้าลูกจ้างแชทหรือเล่นอินเตอร์เน็ตในเวลาทำงานนายจ้างจะไล่ออกจากงานได้หรือไม่ และต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ ขอเรียนว่า นายจ้างไล่ลูกจ้างออกจากงานได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และลูกจ้างเรียกค่าสินไหมทดแทนไม่ได้” สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องดังกล่าวอย่างล้นหลาม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ วิทยากรฝึกอบรบกฏหมายแรงงาน และเจ้าของแฟนเพจดังกล่าว เปิดเผยกับ “เดลินิวส์ออนไลน์” ว่า ในเวลาทำงานที่ไม่ใช่ช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน ที่กำหนดไว้ประมาณ 1 ชม. ตามกฏหมายแรงงานนั้น หากลูกจ้างเข้าโปรแกรมโซเซียมีเดีย ทั้งคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์สมาร์ทโฟน นายจ้างสามารถพิจารณาไล่ลูกจ้างออกจากงานได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และลูกจ้างจะเรียกค่าสินไหมทดแทนไม่ได้
“ลูกจ้างควรปฎิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ถือเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างอีกด้วย ในทางตรงกันข้าม หากนายจ้างไม่ประสงค์เอาผิด ก็ให้ถือว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น และไม่มีการไล่ออก แต่ต้องขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์กรนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไรด้วย มีความจำเป็นหรืออะลุ่มอล่วยได้แค่ไหน" เจ้าของแฟนเพจ เผย.
ที่มา เดลินิวส์ วันศุกร์ 6 กุมภาพันธ์ 2558