วันนี้ (5 ก.พ.) ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้รับทราบร่างยุทธศาสตร์และมาตรการเพื่อการผลิตและพัฒนาครู ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ใน 4 ยุทธศาสตร์ คือ การปฏิรูประบบและรูปแบบการผลิตครู การปฏิรูประบบและรูปแบบการพัฒนาครู การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมการผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบ และการสร้างกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู เพื่อยกระดับคุณภาพครูให้เป็นครูมืออาชีพ มีมาตรฐานในระดับสากล เหมาะสมกับการเป็นครูในยุคศตวรรษที่ 21 และ ร่างแนวทางแก้ไขปัญหาและการปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครู ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ที่เสนอให้ปรับระบบการผลิตครูเป็นระบบปิด เพื่อผลิตครูที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการ โดยต้องดูความต้องการครูที่ชัดเจนในแต่ละสาขาวิชาและทุกสังกัด เพื่อผลิตให้ตรงกับความต้องการ ไม่ให้เกิดปัญหาการผลิตครูเกินปริมาณ นอกจากนี้จะมีการกำหนดผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมถึงระดับอาชีวศึกษา เพื่อผลิตครูให้เหมาะสมและสอดคล้อง พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถในวิชาที่ขาดแคลนมาเป็นครู ส่วนการพัฒนาให้มีการสร้างเครือข่ายการพัฒนาครูระหว่างสถาบันฝ่ายผลิตและสถานศึกษา รวมทั้งเสนอกลไกให้มีคณะกรรมการนโยบายและคณะกรรมการบริหารเพื่อการผลิตและพัฒนาครูระดับชาติด้วย
ด้าน รศ.ดร.พินิติ ระตะนานุกุล เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า ข้อเสนอของ สกอ.สอดคล้องกับแนวคิดของคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู ในคณะกรรมการอำนวยการปฎิรูปการศึกษา ของ ศธ. ที่ต้องจำกัดจำนวนการผลิตครูให้เท่ากับความต้องการและมีอัตรารองรับ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และคุรุสภาต้องร่วมหารือความต้องการครูในระยะเวลา 5 ปี เพื่อกำหนดปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ แต่อาจมีบางส่วนที่เป็นระบบเปิดเพื่อรองรับความต้องการครูของสถานศึกษาในสังกัดอื่น หากเกินความต้องการสถาบันผลิตต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบดังกล่าว รวมทั้งต้องมีการปรับหลักสูตรการผลิตครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ปฐมวัยจน ถึง ม.ปลาย และ อาชีวศึกษาให้แตกต่างและเหมาะสม โดยต้องดูความคาดหวังต่อตัวนักเรียนในอนาคตว่าต้องการเด็กไทยรูปแบบไหน ก็จะผลิตครูออกไปตามนั้น ซึ่งขณะนี้คณะทำงานได้ร่วมกับที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ปรับหลักสูตรต่อไป
เลขาธิการ สกศ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังเห็นตรงกันว่า ควรจะมีโครงการการผลิตครูแบบต่อเนื่องระยะยาว 10 ปี มาทดแทนโครงการครูพันธุ์ใหม่ ซึ่งสิ้นสุดโครงการไปแล้วตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาการขาดแคลนครู และไม่มีผลต่อนโยบายของพรรคการเมือง เพราะที่ผ่านมาโครงการการผลิตครูไม่มีความต่อเนื่อง ต้องทำ ๆ หยุด ๆ ทั้งนี้คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด เสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปฯ น่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดรับนักเรียนในโครงการรุ่นแรกได้ทันในปีการศึกษา 2558 ซึ่งผู้ที่เข้าโครงการจะได้รับทุนจนจบการศึกษา และจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ดังนั้นต่อไปผู้ที่เรียนครูจบมาไม่ตกงานแน่นอน.
ที่มา เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี 5 กุมภาพันธ์ 2558