“กมล” กำชับผอ.เขตพื้นที่ฯ จัดสอบ รองผอ.-ผอ.ร.ร. ด้วยความโปร่งใส่ยุติธรรม ย้ำมาตรการป้องกันทุจริตต้องทำเข้มข้นตลอดกระบวนการจัดสอบ เผยยอดผู้สมัครมีทั้งสิ้น 22,211 ราย ขณะที่ตำแหน่งว่างอยู่ที่ 4,257 ตำแหน่ง ระบุปีนี้เปิดทางให้ผอ.ร.ร.เล็กที่เด็กน้อยกว่า 60 คนได้มีโอกาสสอบเข้าบรรจุ สะท้อนชัด ศธ.ไม่มีนโยบายควบรวมหรือยุบรวม ร.ร.เล็ก
วันนี้ (4 ก.พ.) ที่โรงแรมอะเดียติค พาเลซ นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังมอบแนวทางการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ถึงกระบวนการจัดสอบต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใสและยุติธรรม รวมถึงกำชับมาตรการป้องกันการทุจริต ทั้งก่อนสอบ ระหว่างสอบ และหลังสอบ เพื่อให้การสอบคัดเลือกเป็นไปอย่างรอบคอบ เอาใจใส่ ระมัดระวัง ป้องกันความเสี่ยงที่จะมีข้อผิดพลาดและดำเนินการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้
ขณะนี้ ได้สรุปข้อมูลการสมัคร พบว่า มีผู้สมัครทั้งสิ้น 22,211 ราย แบ่งเป็น ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา 6,267 ราย ใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประสบการณ์ 730 รายและกลุ่มทั่วไป 623 ราย ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา 15,944 ราย ใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประสบการณ์ 1,507 รายและกลุ่มทั่วไป 1,397 ราย ขณะที่มีตำแหน่งที่เปิดรับทั้งหมด 4,257 ตำแหน่ง แบ่งเป็น ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา 1,353 ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา 2,904 ตำแหน่ง ซึ่ง เขตพื้นที่ฯ ที่มีผู้สมัครมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต1 กทม. จำนวน 295 ราย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) บุรีรัมย์ เขต4 จำนวน 270 ราย และสพป.สุรินทร์ เขต 3 จำนวน 256 ราย
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า การสอบครั้งนี้มีความพิเศษจากการสอบครั้งที่ผ่านมา โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนดให้สพฐ.เป็นผู้จัดสอบและเข้าไปดูแลการออกข้อสอบในส่วนของการสอบภาค ก ความรู้ทั่วไป ส่วนการสอบภาค ข วิชาเฉพาะประจำตำแหน่ง และภาค ค การสอบสัมภาษณ์ ให้เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ ในส่วนของข้อสอบสพฐ.ได้ติดต่อมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านศึกษาศาสตร์ของประเทศ เป็นผู้ออกข้อสอบ จัดส่งข้อสอบ และประมวลผลการสอบ โดยข้อสอบที่ใช้จะมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน แต่จะมีหลายฉบับ เพื่อป้องกันกรณีที่หากมีพื้นที่ใดเกิดปัญหา พื้นที่อื่นก็ยังสามารถใช้ข้อสอบในพื้นที่ข้องตัวเองได้
“อีกประเด็นที่เป็นความพิเศษ คือการสอบครั้งนี้ สพฐ. เปิดสอบบรรจุผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กที่ยังว่างอยู่ด้วย จากเดิมที่จะไม่เปิดสอบในโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน แต่ครั้งนี้เปิดรับหมด แสดงให้เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ได้มีนโยบายยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเข้าไปแก้ปัญหา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสอบบรรจุตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กที่ว่างอยู่ ไม่ใช่ปล่อยให้เฉาตาย ไม่มีผู้บริหาร ถือเป็นภารกิจหนึ่งที่สพฐ.เร่งดำเนินการ” นายกมล กล่าว
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 กุมภาพันธ์ 2558