ก.พ.อ.สั่งทบทวนบัญชีเงินเดือนข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา ระบุควรเทียบเคียงบัญชีเงินเดือนของ ก.พ. มากกว่าการดูที่ตำแหน่ง พนง.มหาวิทยาลัย ที่บางคนอัตราเงินเดือนทะลุเพดาน ขณะที่ พนง.มหาวิทยาลัยยื่น กมธ.แรงงาน สปช.วอนตั้งกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาล ชี้สิทธิประกันสังคมแย่กว่าสวัสดิการข้าราชการที่เคยได้รับก่อนมหา'ลัยออกนอกระบบ
นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรม การการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ที่มีนายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ได้พิจารณาตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เสนอร่างกฎ ก.พ.อ.ว่าด้วยการกำหนดบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. .... และร่างกฎ ก.พ.อ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินเดือน พ.ศ. .... รวมทั้งบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงใหม่ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติปรับเงินเดือน 4% ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐชั้นผู้น้อย ซึ่งในส่วนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาจะมีผลต่อการปรับเงินเดือนของข้าราชการ ผู้ดำรงตำแหน่งวิชาการ ซึ่งได้รับเงินเดือนตำแหน่งอาจารย์ และผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ ซึ่งเงินเดือนระดับปฏิบัติการและระดับชำนาญการ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ซึ่งได้รับเงินเดือนระดับปฏิบัติงานและระดับชำนาญงาน
เลขาฯ กกอ.กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับอย่างกว้างขวาง และมีมติเห็นชอบให้ สกอ.กลับไปทบทวนรายละเอียดการขึ้นเงินเดือนใหม่ โดยที่ประชุมเห็นว่า หากปรับเงินเดือนโดยเริ่มจากตำแหน่งอาจารย์อาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เช่น บางคนเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) มานาน และได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนทุกครั้ง จนได้รับเงินเดือนในอัตราที่สูง ซึ่งอาจจะมากกว่าตำแหน่งในระดับที่สูงกว่า ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นว่า การปรับฐานเงินเดือนครั้งนี้อาจจะต้องดูที่ฐานเงินเดือนจริงๆ ไม่ใช่จากตำแหน่ง โดยเทียบเคียงจากบัญชีเงินเดือนของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และให้นำมาเสนอต่อที่ประชุม ก.พ.อ.นัดต่อไป
ด้าน นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการ บดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ตามหลักการแล้วการปรับเงินเดือนครั้งนี้จะไม่ครอบคลุมกับพนักงานมหาวิทยาลัย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และลูกจ้างประจำ ซึ่งในที่ประชุม สนช.ได้หารือในประเด็นดังกล่าว โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมี พ.ร.บ.ของตัวเอง ดังนั้นจึงสามารถตั้งบัญชีเงินเดือนเองได้ เพียงแต่ต้องทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการสนับสนุนต่อไป ส่วนกลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และลูกจ้างประจำ ก็สามารถปรับขึ้นโดยอนุโลมจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้เช่นกัน
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.45 น. นายวีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ พร้อมคณะ เดินทางมายื่นหนังสือต่อ พล.ท.เดชา ปุญญบาล ประธานกรรมาธิการแรงงาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อขอให้ช่วยแก้ปัญหาระบบสวัสดิการของพนักงานมหาวิทยาลัย โดยนายวีรชัยกล่าวว่า บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศในปัจจุบันที่ไม่ใช่ข้าราชการมีจำนวน 106,366 คน ซึ่งถูก พ.ร.บ.ของแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดว่าไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ทำให้เสียสิทธิ์ในการปกป้องสถานภาพตนเองหลายอย่าง ซึ่งแตกต่างจากพนักงานระบบรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในระบบแรงงานสัมพันธ์ อาทิ เนื่องจากทำสัญญาจ้างระยะสั้น เมื่อตรวจสอบการบริหารงานที่ไม่โปร่งใสในสถาบันอุดมศึกษาจึงทำได้ยาก เพราะจะถูกให้ออกจากงานได้ทุกเมื่อ ฟ้องศาลแรงงานก็ไม่ได้
นายวีรชัยกล่าวอีกว่า มติ ครม.ปี 2542 ให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับการออกนอกระบบ ซึ่งปัจจุบันไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ แต่เข้าไปอยู่ในระบบประกันสังคมของกระทรวงแรงงาน ซึ่งแทนที่จะสร้างระบบสวัสดิการสุขภาพให้ดีเหมือนราชการเดิม แต่ในความเป็นจริงสิทธิ์รักษาพยาบาลที่ได้รับแย่กว่าระบบราชการเดิม และแย่กว่าระบบของพนักงานรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ อาจารย์มหาวิทยาลัยเริ่มไหลออกจากระบบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเรียนเก่ง อาจารย์แพทย์ศัลยกรรมบางท่านมีประสบการณ์สูงก็ลาออกไปอยู่เอกชน ดังนั้นขอเสนอให้กรรมาธิการฯ เสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยผลักดันให้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลอุดมศึกษา (เหมือนราชการเดิม) ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บริหารจัดการโดย สปสช. ระบบจ่ายตรง สวัสดิการคลุมบิดามารดาและบุตร
ด้าน พล.ท.เดชากล่าวว่า จะรับข้อมูลไปพิจารณาในรายละเอียด โดยขั้นตอนต่อจากนี้ไปอาจจะต้องเชิญตัวแทนมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความรอบด้านมากยิ่งขึ้นด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์