กลายเป็นเรื่องที่สังคมกำลังจับตามองเกี่ยวกับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ประจำปีการศึกษา 2557 ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 หลังจากมีผู้ใช้ชื่อว่า "ครูพี่เหยิน" ตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ดชื่อดังว่า เมื่อแฟนผมเป็นผู้สังเกตการณ์การสอบ O-Net ป.6 โดยระบุว่า ผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งบอกกับผู้สังเกตการณ์ของ สทศ. ในการสอบโอเน็ตระดับ ป.6 ว่า "ผอ.ขอได้ไหมเด็กมันไม่ได้จริงๆ ผู้ใหญ่เค้าขอมา..." เรื่องนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการบอกข้อสอบ หลังสอบเสร็จผู้สังเกตการณ์ได้ไปสอบถามเด็ก ซึ่งเด็กยอมรับว่า ครูบอกข้อสอบ 2-3 ข้อ แต่ภายหลังเมื่อสอบเสร็จสิ้นไปถามเด็กนักเรียนอีกครั้ง สรุปว่า บอกทุกวิชาอย่างละนิดละหน่อย ทั้งนี้ ผู้ตั้งกระทู้ระบุว่า แฟนสาวซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์ได้เขียนบันทึกรายงานไปตามจริง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ทราบว่ามีการตั้งกระทู้ขึ้นมา และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่ไม่ได้ตรวจสอบเฉพาะที่กระทู้ดังกล่าว เป็นการตรวจสอบตามปกติเพราะศูนย์สอบจะต้องรายงานมายัง สทศ. ในส่วนของผู้สังเกตการณ์นั้น เนื่องจากการสอบโอเน็ต ป.6 และ ม.3 มีเด็กจำนวนมาก สทศ.จึงขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) รับทำหน้าที่สังเกตการณ์สอบทั่วประเทศ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยราชภัฏในแต่ละจังหวัดก็จะจัดส่งอาจารย์ นักศึกษาปริญญาโท และนักศึกษาปริญญาเอก ไปประจำในแต่ละโรงเรียน ยกเว้นจังหวัดใดที่ไม่มีมหาวิทยาลัยราชภัฏตั้งอยู่ เช่น ขอนแก่น นครพนม ก็ประสานมหาวิทยาลัยรัฐในพื้นที่เป็นผู้ทำหน้าที่สังเกตการณ์ ซึ่งเป็นมาตรการเสริมเพื่อป้องปรามการทุจริตและดำเนินการมาต่อเนื่องถึง 3 ปีแล้ว นับแต่ใช้มาตรการเสริมให้มีผู้สังเกตการณ์การสอบก็ไม่เคยได้รับรายงานปัญหาในลักษณะนี้
"ยังไม่ได้ปักใจเชื่อแต่ไม่ได้นิ่งนอนใจ ผมยืนยันว่า สทศ.ให้ความสำคัญต่อการป้องกันการทุจริต ที่ผ่านมาเมื่อจัดสอบมักจะผู้ร้องเรียนต่างๆ เพราะฉะนั้นต้องรอรายงานข้อมูลเสียก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร ผมไม่อยากจะพูดอะไรไปก่อนเพราะจะกระทบกับครู กับผู้บริหารโรงเรียนที่เขาตั้งใจทำดีก็จะหมดกำลังใจ แต่หากมีการ กระทำผิดและมีหลักฐานชี้ชัดเจนว่า ผิดจริง ตรงนี้ ต้องเอาผิดแน่ เพราะตอนนี้ สทศ.มีระเบียบออกมาชัดเจนแล้ว เช่น หากกรรมการคุมสอบทำผิด มีหลักฐานชี้ชัดต้องถูกดำเนินการตามวินัย เพราะผิดจรรยาบรรณ และหากเป็นการกระทำที่สร้างความเสียหายต่อ สทศ.ด้วยแล้ว สทศ. ก็จะฟ้องร้อง เป็นต้น" รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว
รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า ตามที่ สทศ.จัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ประจำปีการศึกษา 2557 ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา โดยประกาศผลวันที่ 15 มีนาคม ส่วนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 สอบวันที่ 31 มกราคมและวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ประกาศผลวันที่ 16 มีนาคม ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการสอบในระดับ ม.3 สอบทั้งหมด 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม, สุขศึกษาและพลศึกษา, ศิลปะ และการงานอาชีพและเทคโนโลยี
"สำหรับภาพรวมในการจัดสอบ โอเน็ต ป.6 และ ม.3 ทั้งสองวันเป็นไปอย่างเรียบร้อย ยังไม่มีรายงานการทุจริตแต่อย่างใด และที่ผ่านมา สทศ.ได้กำหนดมาตรการป้องกันการทุจริต รวมทั้งเฝ้าระวังและเข้มงวดกับการกระทำหรือพฤติกรรมอันส่อไปในทางทุจริตมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปีนี้ได้ออกระเบียบ สทศ.ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการทดสอบ พ.ศ.2557 กำหนดโทษของนักเรียนผู้เข้าสอบและกรรมการคุมสอบ กรรมการประจำศูนย์สอบ เพื่อป้องกันการทุจริต การสอบทุกประเภทที่จัดโดยสทศ. ตรงนี้สะท้อนว่าเราให้ความสำคัญต่อการป้องปรามการทุจริต" รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว
วันเดียวกัน ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ให้สัมภาษณ์กรณีสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติได้เสนอต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ ลดการสอบโอเน็ต เหลือ 5 วิชา ตามนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ว่า ทราบข่าวจากสื่อมวลชน ได้โทรศัพท์สอบถาม รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ. เพื่อขอทราบรายละเอียด ซึ่ง ผอ.สทศ.บอกว่า ได้เสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการ ให้หารือกับทปอ.ด้วย ซึ่ง ทปอ.ได้เชิญ พล.ร.อ.ณรงค์ เข้าร่วมประชุมในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ แต่ พล.ร.อ.ณรงค์ติดภารกิจ และมอบหมายให้ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมแทน
"คงต้องหารือเรื่องนี้กันในที่ประชุม ผมคิดว่ายังมีเวลาที่จะพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อวิเคราะห์ถึงผลดีผลเสียของการลดการสอบโอเน็ต เนื่องจากคะแนนโอเน็ตเป็นส่วนหนึ่งของการสอบแอด มิชชั่นส์ คะแนนที่แตกต่างกันเพียง 1-2 คะแนน มีผลอย่างมากต่อลำดับคณะที่นักเรียนเลือก ดังนั้น ผู้ออกข้อสอบจะต้องมีความเป็น กลาง ทปอ.จึงได้มอบหมายให้ สทศ.เป็นผู้จัดสอบโอเน็ต ทั้ง 8 กลุ่มสาระ แต่ในอนาคต หากมีนโยบายให้ โรงเรียนร่วมออกข้อสอบและให้คะแนนกลุ่มสังคมศึกษาด้วย ก็อาจเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ และสังคมก็จะตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมในการให้คะแนน
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า ผู้มีอำนาจในการตัดสินของกระทรวงศึกษาธิการ อาจไม่รู้ว่าคะแนนโอเน็ต นอกจากจะใช้เพื่อการเรียนจบชั้นม.6 แล้ว ยังใช้เป็นส่วนหนึ่งของการสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้วย ที่สำคัญ ทปอ.คำนึงถึงความเป็นธรรมมากที่สุด ดังนั้น การให้โรงเรียนออกข้อสอบและให้คะแนนเองจะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ส่วนเรื่องลดการสอบโอเน็ตจะต้องเจรจากัน เพื่อสอบถามความคิดเห็นของอธิการบดีทุกแห่งก่อนตัด สินใจ
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชาวเน็ตแฉ การศึกษาไทยตกต่ำ ครูช่วยเด็กโกงข้อสอบ O-Net ชั้น ป.6