วันนี้(2 ก.พ.)พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้หารือถึงการพัฒนากำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศ ผลิตคนเพื่อสร้างอาชีพ เด็กเรียนจบแล้วไม่ตกงาน โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ทำความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เพื่อดำเนินการให้นักเรียนที่เรียนอยู่ในสายสามัญสามารถเรียนสายอาชีพควบคู่ไปในเวลา เดียวกัน ด้วยการจับคู่ระหว่างโรงเรียนสังกัด สพฐ. กับ วิทยาลัยสังกัด สอศ. เมื่อเด็กเรียนจบก็จะได้รับวุฒิการศึกษาทั้งสายสามัญฯและสายอาชีพ แต่เนื่องจากเงินอุดหนุนรายหัวในการจัดการศึกษาระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพแตกต่างกัน โดยการเรียนอาชีวะต้องใช้เงินมากกว่า ที่ประชุมจึงมอบให้ สอศ.ไปหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มเติมพิเศษ หรือ เงินท็อปอัพให้แก่นักเรียนที่เรียนสายอาชีพในโรงเรียนมัธยมศึกษา
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบให้ สอศ.หารือกับสำนักงบฯ และเขียนโครงการเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขอรับการอุดหนุนเงินส่วนต่างสำหรับผู้ที่เรียนสายอาชีพในโรงเรียนมัธยมศึกษา อาทิ สายสามัญฯรับเงินอุดหนุน3,800บาทต่อคนต่อปี ขณะที่สายอาชีพได้ 6,400บาทต่อคนต่อปี ก็จะขอเพิ่มเงินส่วนต่าง2,600บาทต่อคนต่อปี ส่วนการจัดสอนอาชีพในโรงเรียนมัธยมฯจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ โรงเรียนมัธยมฯที่สอนถึงชั้น ม.ปลาย ปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสม เด็กเรียนจบภายใน3ปี เรียนจบแล้วได้ทั้งวุฒิ ม.6และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เริ่มภาคเรียนที่ 1/2558 และ กลุ่มที่ 2 คือ โรงเรียนที่สอนถึงชั้น ม.ต้น จะให้เด็กได้เรียนวิชาชีพควบคู่ไปกับสายสามัญฯ เมื่อจบชั้น ม.3 ก็สามารถไปประกอบอาชีพได้ เพราะมีข้อมูลว่าแต่ละปีจะมีเด็กประมาณ 80,000 คน ไม่ได้เรียนต่อและออกไปทำงานเลย.
ที่มา เดลินิวส์ วันจันทร์ 2 กุมภาพันธ์ 2558