พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการเสวนา "ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน" จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีพลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหาร สพฐ. ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 400 คน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม 2558 ที่ห้องคอนเวนชั่น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การเสวนาในวันนี้มีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรงและผู้สนับสนุนด้านการศึกษา ขณะนี้ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสนใจและต้องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา หลังจากทราบว่าผลการประเมินนักเรียนไทยโดยองค์กรระดับประเทศและระดับนานาชาติอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบเคียงกับนักเรียนจากประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน แม้ว่ารัฐบาลและทุกภาคส่วนในสังคมจะให้ความสำคัญและสนใจเรื่องการศึกษาอย่างมาก แต่ผลการประเมินกลับไม่เป็นไปตามที่คาดหวังและที่ตั้งใจ
ทุกรัฐบาลที่ผ่านมามีการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากให้แก่กระทรวงศึกษาธิการทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อสนับสนุนและพัฒนาการศึกษา แต่งบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาบุคลากร เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการมีจำนวนบุคลากรมากที่สุดในประเทศ อีกทั้งประเทศไทยและกระทรวงศึกษาธิการได้ปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่ปี 2540-2542 รวมถึงการปฏิรูปย่อยในการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการศึกษามาโดยตลอด อาจมีผิดบ้างถูกบ้าง แต่ผลการประเมินก็ปรากฏอย่างที่เห็น
ดังนั้น ในช่วงที่ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสนใจเรื่องการปฏิรูปการศึกษา จะต้องช่วยกันพัฒนาผู้เรียนให้มีผลการเรียนการสอน การประเมินเป็นที่น่าพอใจ อยู่ในอันดับต้นของภูมิภาคหรือระดับโลก และให้ทุกฝ่ายมีความภาคภูมิใจ การจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและสนับสนุนการศึกษา จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับข้อแนะนำและข้อเสนอแนะที่ดี เืพื่อนำมาปรับใช้ในการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน
การศึกษาขั้นพื้นฐานมีความสำคัญมาก เพราะหากพื้นฐานไม่แน่น เมื่อนำไปต่อยอดก็อาจจะล้มหรือคลอนแคลนได้ ดังนั้นการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ถือว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สุดในระบบการศึกษา ที่ผ่านมาการศึกษาขั้นพื้นฐานหมายถึงเฉพาะนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา แต่จากการหารือกับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีคณะกรรมาธิการที่ดูแลเรื่องการศึกษาโดยตรง
ทราบว่าในรัฐธรรมนูญฉบับที่อยู่ระหว่างการร่าง จะกำหนดให้การศึกษาขั้นพื้นฐานรวมไปถึงเด็กปฐมวัย คือ นักเรียนระดับชั้นอนุบาล ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องและควรจะเป็นเช่นนี้มานานแล้ว เพราะการที่จะปลูกฝัง ถ่ายทอด หรือให้ความรู้กับเด็ก ไม่ได้เริ่มกับเด็กอายุ 6-7 ขวบ แต่ต้องเริ่มที่เด็กอายุน้อยกว่านั้น และเริ่มจากที่บ้านซึ่งมีพ่อแม่หรือผู้ปกครองดูแลตั้งแต่แรกเกิด ถือเป็นครูคนแรกของเด็ก เนื่องจากเด็กในช่วงแรกเกิดจนกระทั่งก่อนเข้าอนุบาล กระทรวงศึกษาธิการยังไม่สามารถยื่นมือเข้าไปดูแลได้ แต่เมื่อเด็กถึงวัยที่จะต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว (ระดับอนุบาล ตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ) การศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องเข้าไปมีส่วนช่วยในการดูแลตั้งแต่ต้น เพราะเด็กในวัยนี้ถูกสอนอย่างไรก็รับอย่างนั้น การศึกษาในระดับปฐมวัยหรือระดับอนุบาลจึงมีความจำเป็นและทุกฝ่ายจะต้องใส่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุน
การปฏิรูปการศึกษามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย ตั้งแต่การปฏิรูปโครงสร้างองค์ฺกร ระบบบริหารจัดการ บุคลากรทางการศึกษา งบประมาณ หลักสูตร จึงต้องนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา คิดวิเคราะห์ ทำให้ถูกต้อง และทำให้ดีกว่าที่ผ่านมา ผลของการปฏิรูปการศึกษาจะไม่ได้เห็นในทันทีหรือระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่จะปรากฏในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยการปฏิรูปการศึกษาที่ถูกต้องและตรงประเด็นที่สุดจะต้องมีผลกระทบต่อนักเรียนโดยตรงและเป็นผลกระทบที่ดีขึ้น เพราะนักเรียนคือผลผลิตของระบบการศึกษา ซึ่งมีระบบวัดและประเมินผลที่ตัวนักเรียนไม่ใช่ครูอาจารย์หรือผู้บริหาร
ทั้งนี้ การปฏิรูปการศึกษาจะต้องเกิดขึ้นภายในห้องเรียน ผู้ที่มีผลกระทบและมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งก็คือครู เพราะครูเป็นผู้ที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อนักเรียน ดังนั้นครูต้องปฏิรูปตัวเอง ครูจะต้องเป็นศิลปิน คือเป็นผู้ที่มีศิลปะในการถ่ายทอด รู้ว่าควรจะถ่ายทอดให้กับนักเรียนอย่างไรเพื่อให้นักเรียนหรือผู้รับสนใจและสามารถรับได้ และครูจะต้องมีจรรยาบรรณในความเป็นครู เนื่องจากอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ
การปฏิรูปหลักสูตรก็มีความสำคัญ กระทรวงศึกษาธิการและ สพฐ.อยู่ระหว่างพิจารณาหลักสูตร โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุน เช่น วิชาประวัติศาสตร์ที่ควรจะต้องนำมาเป็นจุดเด่นและกำหนดไว้ในหลักสูตรด้วย เพราะหากคนไทยไม่รู้ประวัติศาสตร์รากเหง้าของชาติก็จะไม่มีทางรู้อนาคต หากไม่รู้อดีตก็จะหวังอนาคตแทบจะไม่ได้เลย จึงต้องช่วยกันคิดวิธีการสอนหรือถ่ายทอดเพื่อให้นักเรียนมีความสนใจและใฝ่รู้ในเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ ต้องการเห็นผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษามีภาวะความเป็นผู้นำ จากการตรวจเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ พบว่า นักเรียนในระบบการศึกษามีจำนวนมาก แต่ละพื้นที่ก็มีปัญหาคล้ายกันและแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่ในบางพื้นที่ที่ผู้บริหารมีภาวะความเป็นผู้นำสูงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอส่วนกลาง เช่น โรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้นหรือไม่ครบ 8 กลุ่มสาระวิชา ผู้บริหารจะใช้ความเป็นผู้นำในการโน้มน้าวและชักจูงทุกภาคส่วนในพื้นที่ให้ร่วมกันแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโรงเรียน ครู และนักเรียนที่ดีขึ้น
ในอนาคตต่อไปอีก 5-10 ปี ระบบการศึกษาไทยต้องการเห็นนักเรียนเป็นอย่างไร โดยส่วนตัวเห็นว่านักเรียนควรจะมีความรู้เท่าทันในเรื่องของสังคม ความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยี มีความคิดเชิงวิเคราะห์ สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทั่วไปหรือปัญหาในชีวิต หากนักเรียนได้รับการปลูกฝังเรื่องของการแก้ไขปัญหามาตั้งแต่เล็ก เชื่อว่าเมื่อนักเรียนจบการศึกษาแล้ว มีครอบครัวและเป็นผู้นำครอบครัว ก็จะสามารถใช้ทักษะดังกล่าวในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ต้องการให้ทุกฝ่ายช่วยกัน ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดผลสำเร็จ อนาคตของชาติอยู่ในกำมือของทุกท่านที่อยู่ในระบบการศึกษา ท่านอาจจะมีเงินมากมาย ซื้อได้ทุกอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ซื้อไม่ได้คือ “อดีต” ทั้งนี้ ท่านสามารถสร้างอนาคตที่ดีให้กับลูกหลานของเราได้ตั้งแต่วันนี้
ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงการจัดเสวนาในครั้งนี้ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แนวทางการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ บุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ครู ผู้ปกครอง นักเรียน ประธานกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้แทนประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน อีกทั้ง สพฐ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วมการเสวนาด้วย ประกอบด้วยผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประธานหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด องค์กรภาคเอกชน คณบดีคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ ผู้จัดการศึกษาทางเลือกตามมาตรา 12 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ