วันนี้(29ม.ค.)นายประวิทย์ บึงไสย์ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย(ส.ค.ท.)เปิดเผยว่า จากการประชุมส.ค.ท.ซึ่งประกอบด้วยองค์กรครู 4 ภูมิภาค เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ประชุมได้หารือถึงประเด็นการปฏิรูปการศึกษาโดยได้รวบรวมข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนและได้ข้อสรุปว่า ในการปฏิรูปการศึกษาจะต้องเน้นไปที่คุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญโดยผลสำเร็จของผู้เรียนไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายหรือการปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ และที่สำคัญควรต้องกำหนดให้มีหมวดที่ว่าด้วยการศึกษาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยกำหนดสาระต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาทั้งหมดมาไว้ในหมวดนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในด้านการศึกษา
“ที่ผ่านมายังไม่มีการนำเสนอที่ชัดเจนว่าควรกำหนดให้มีหมวดการศึกษาในรัฐธรรมนูญแต่ครั้งนี้ทางองค์กรครูซึ่งได้รับฟังความเห็นจากครูและผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดหมวดการศึกษาเป็นการเฉพาะโดยเรื่องนี้ได้มีการนำเสนอในเวทีรับฟังความเห็นของคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไปแล้ว ซึ่งกรรมาธิการการศึกษาฯก็เห็นด้วยและขณะนี้ก็กำลังจะนำเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ด้วย”นายประวิทย์กล่าว
ด้านนายสนอง ทาหอม ที่ปรึกษา ส.ค.ท. กล่าวว่าในการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ขอว่าอย่าแก้กฎหมายที่เป็นการปรับโครงสร้างกระทรวงอีกเพราะจะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ควรมาพูดเรื่องคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำให้มากขึ้นเพราะคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำเกิดจากปัญหาขาดแคลนครู ครูไม่เพียงพอ ขาดงบประมาณไม่ใช่ขาดโครงสร้างที่ผ่านมาโรงเรียนขาดงบประมาณทำให้ต้องช่วยเหลือตัวเองโดยการจัดผ้าป่าการศึกษาเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากสังคมภายนอกนอกจากนี้สิ่งที่ทำลายคุณภาพการศึกษาอย่างมากและทำให้เด็กได้รับความเจ็บปวดอย่างยิ่งคือ การที่ส่วนกลางแย่งกันจัดงาน การจัดประกวดหรือแข่งขันทักษะทางวิชาการต่าง ๆปีละหลาย ๆ งานทำให้ครูต้องไปทุ่มเทให้กับเด็กที่เป็นตัวแทนของโรงเรียนเพียงไม่กี่คนขณะที่เด็กส่วนใหญ่ถูกทอดทิ้ง ผลที่ออกมาคือคะแนนแบบทดสอบต่าง ๆโดยเฉพาะแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ตตกต่ำลง
ที่มา เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี 29 มกราคม 2558