กลิ่น สระทองเนียม
ตอนนี้คิดว่าคนไทยกำลังรอความหวังกับการปฏิรูปประเทศของผู้รับผิดชอบแต่ละภาคส่วนอยู่ ซึ่งเรื่องสำคัญหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการศึกษาเพราะหากคนขาดคุณภาพแล้ว การปฏิรูปด้านอื่นก็คงเกิดผลได้ยาก ซึ่งปัญหาที่ทำให้คุณภาพการศึกษาชาติตกต่ำนั้นตอนนี้เชื่อว่าทั้ง คสช. รัฐบาล และ สปช. คงได้รับข้อมูลมากจนเกินพอแล้วก็เป็นไปได้ จึงเหลืออยู่ว่าจะหาวิธีการใดมาทำให้การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพได้ ซึ่งก็เชื่อว่าจากความล้มเหลวที่ผ่านมาน่าจะทำให้วิธีคิดและวิธีดำเนินการเปลี่ยนแปลงไปทางที่ดีขึ้นเพราะหากยังคิดแบบเดิมด้วยการคิดแก้ปัญหาเป็นจุด ๆ ไปความสำเร็จคงเกิดขึ้นยากเนื่องจากปัญหามีอยู่มากมายและสั่งสมจนกลายเป็นดินพอกหางหมูไปแล้วจึงมีทางเดียวที่จะทำได้ คือ Change ใหม่กันทั้งระบบโดยมีเป้าหมายอยู่ที่คุณภาพเด็กสถานเดียว
ไม่ว่าจะเป็น เป้าหมายคุณภาพผู้เรียน เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับแล้วจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข บนพื้นฐานความพอเพียงและเกิดค่านิยมที่ชาติต้องการ ส่วนการเรียนรู้ระดับสูงขึ้นก็ต้องจัดให้สอดคล้องกับศักยภาพที่แต่ละคนมีอยู่ทั้งสายสามัญและสายอาชีพโดยผู้ปกครองและครูร่วมกันคัดกรองศักยภาพตั้งแต่การศึกษาภาคบังคับว่าควรจะไปสายไหน ส่วนภาครัฐจะ ต้องเตรียมพร้อมรองรับกับอาชีพตามสาขาที่เด็กได้รับพัฒนามาไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรมทั้งแย่งกันเข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่สนใจว่าตนเองมีศักยภาพด้าน ไหน พอจบแล้วยังต้องมาแย่งหางานกันอีกจึงได้ทั้งงานตรงและไม่ตรงสาขาที่เรียนมาหรือไม่ก็ตกงาน ไปเลย ด้านนโยบายควรมีกฎหมายกำกับให้ ทุกรัฐบาลต้องจัดการศึกษาตามรัฐธรรมนูญ แผนการศึกษาของชาติและต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นเพื่อให้การพัฒนาเกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนเกิดผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้น การแต่งตั้งผู้มาบริหารนโยบายการศึกษาทุกระดับจึงต้องได้มืออาชีพ รู้ลึก รู้จริง เพื่อนำนโยบายสู่การปฏิบัติให้เกิดผล ด้านงบประมาณก็ต้องลงสู่ภาคปฏิบัติถึงตัวเด็ก รวมถึงกระทรวง ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรของชาติ ต้องร่วมกันทำงานแบบบูรณาการอย่างจริงจัง ไม่ใช่มาฝากงานของตนเองให้โรงเรียนทำอย่างที่ผ่านมา
ด้านบริหารจัดการ จะต้องกระจายอำนาจทั้งเงิน คน วิธีการลงสู่ภาคปฏิบัติเพื่อสามารถคิดแก้ปัญหา และพัฒนาการได้ตรงบริบท โดยส่วนกลางทำหน้าที่กำหนดมาตรการ กำกับ ติดตาม ประเมินผล หรือคิดค้นนวัตกรรม งานวิจัยที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบให้ดีขึ้น ระบบการสรรหาครูและผู้บริหารสถานศึกษาควรเปลี่ยนมาให้คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชนและผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้ดำเนินการรวมถึงให้อำนาจในการติดตาม กำกับ ประเมินผลให้คุณและโทษได้โดยเฉพาะต้องร่วมรับผิดชอบกับผลคุณภาพเด็กที่เกิดขึ้นด้วย ส่วนกลางต้องกำหนดมาตรการให้คุณและโทษกับผู้ปฏิบัติทุกระดับกับผลคุณภาพการศึกษาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ครูก้าวหน้าทั้งเงินเดือนและวิทยฐานะแต่คุณภาพเด็กตกต่ำหรือครูสอนเด็กไม่เกิดคุณภาพก็ไม่มีความผิดแถมก้าวหน้าได้ ควรแยกแท่งเงินเดือนออกจากวิทยฐานะเพื่อทำให้ครูสามารถเลื่อนไหลเงินเดือนได้จนเกษียณอายุราชการหรือเต็มเพดานสูงสุด ส่วนของผู้ปกครองก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อคุณภาพบุตรหลานของตนเองด้วยการพัฒนาตั้งแต่แรกเกิดเพราะรอ กว่าจะเข้าอนุบาลก็จะสายเกินไปด้วยสมองเด็กจะพัฒนาอย่างรวดเร็วจึงต้องเร่งปลูกฝังสิ่งดีงามให้เกิดเป็นจิตสำนึกที่ถาวรให้ได้ นอกจากนั้น รัฐต้องส่งเสริมด้านแหล่งสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน และครอบครัว ด้วยโลกปัจจุบันเป็นยุคดิจิตอล เครือข่ายความรู้สามารถติดต่อได้ทั่วถึงและรวดเร็ว การเรียนรู้จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ห้องเรียนและโรงเรียนอีกต่อไป ส่วนการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กควรยึดหลักทั้งโอกาสและคุณภาพจึงควรยุบโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่การคมนาคมสะดวกซึ่งจะทำให้คุณภาพผู้เรียนดีขึ้นและเหลือปัจจัยต่าง ๆ มาพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถยุบได้
ด้านบุคลากร ซึ่งเป็นหัวใจหลักความสำเร็จของงาน แต่ที่ผ่านมาปัญหาด้านบุคลากรยังมีอยู่มากมาย ทั้งครูไม่พอสอนครบชั้น ไม่พอสอนครบวิชา ครูขาดคุณภาพ ครูมีภาระงานอื่นมาก ปัญหาหนี้สิน การอยู่ห่างไกลภูมิลำเนา เป็นต้น ปัญหาทั้งหลายนี้จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะปัญหาครูไม่พอสอนครบชั้นในระดับประถมและไม่พอกับการสอนวิชาหลักในระดับมัธยม ด้านคุณภาพครูจะต้องพัฒนาครูให้มีความรู้เท่าทันวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีทักษะในการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศักยภาพผู้เรียนและเท่าทันกับยุค
ดิจิตอล รวมถึงสามารถเป็นต้นแบบที่ดีมีคุณธรรม และอุดมการณ์ในการทำงาน ส่วนการเตรียมการหามืออาชีพมาจัดการศึกษาในอนาคตนั้นควรมีสถาบันผลิตบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาโดยตรงทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นครู ผู้บริหารหรือศึกษานิเทศก์ ด้านหลักสูตรการศึกษา จะต้องมีความยืดหยุ่นหลากหลาย สอดคล้องกับศักยภาพบริบทความแตกต่างของเด็กแต่ละพื้นที่ ซึ่งหลักสูตรที่ใช้อยู่ปัจจุบันไม่ค่อยได้ผลเพราะมีรายละเอียดทั้งสาระและเวลาเรียนมากเกินไปและต้องเรียนเหมือนกันทั้งประเทศ เมื่อเรียนจบหลักสูตรไม่เกิดทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข จะได้บ้างก็เพียงทักษะวิชาการ จึงเหมือนไม่ใช่หลักสูตรการศึกษาภาคบังคับแต่เป็นหลักสูตรเตรียมเด็กเข้ามหาวิทยาลัยมากกว่า ส่วนนี้จึงต้องเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่น หลากหลายสอดคล้องกับศักยภาพของเด็กแต่ละบริบท อาทิ เด็กที่อยู่ตามชายขอบ ภูเขา เกาะแก่งหรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังอ่านไม่ได้ เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น มีปัญหาสุขนิสัยการดำรงชีวิตและค่านิยมไทย ก็ต้องจัดเป็นหลักสูตรพัฒนาความพร้อมในพื้นฐานการเรียนรู้ให้เข้มแข็งก่อน ส่วนต่อมาถึงจะเป็นหลักสูตรแกนกลางที่จะทำให้เด็กเรียนจบการศึกษาภาคบังคับเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มีทักษะการดำเนินชีวิตครบทุกด้าน สุดท้ายให้เป็นหลักสูตรที่แต่ละโรงเรียนที่มีความพร้อมสามารถไปคิดต่อยอดจากหลักสูตรภาคบังคับไปสู่ความเป็นเลิศตามวิสัยทัศน์หรือธงชัยที่กำหนดไว้ให้ไปสู่ความเป็นเลิศ หากทำได้เช่นนี้ก็จะทำให้เด็กได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพตามที่ทุกคนมีอยู่ไม่ใช่ต้องเรียนเหมือนกันทั้งเด็กอ่อน ปานกลาง หรือเด็กเก่งแบบเตี้ยอุ้มค่อมอย่างทุกวันนี้
ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้วยมีครูจำนวนไม่น้อยยังสอน ตามประสบการณ์เดิมใช้ความรู้เดิม หรือสอนเนื้อหาตามตำรา โดยไม่คำนึงถึงวิทยาการและเทคโนโลยียุคสมัยที่เปลี่ยนไป ที่สำคัญยัง มีเจตคติที่ว่าความรู้ของเด็กต้องมาจากครูเท่านั้นทำให้การเรียนรู้ยังยึดตัวครู ยึดห้องเรียนและโรงเรียนเป็นหลัก ส่วนนี้จะต้องพัฒนาครูให้สามารถปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนกันทั้งระบบด้วยการให้เด็ก เป็นผู้แสดงครูเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้และกำกับการแสดงมากกว่า ซึ่งจะทำให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ได้ลงมือปฏิบัติจริงและเรียนรู้อย่างมีความสุขอย่างแท้จริงเสียที
นอกจากนั้นยังมีอีกหลายปัจจัยที่น่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกันใหม่ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาผู้เรียนและขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานโดยเฉพาะวิธีคิดในการดำเนินงานที่จะต้องเปลี่ยนจากการมุ่งพัฒนาแต่องค์ประกอบรอบข้างให้พุ่งเป้าไปที่ตัวเด็กและคุณภาพชีวิตของเด็กอย่างจริงจังและเต็มเม็ด เต็มหน่วย ความล้มเหลวด้านการศึกษาที่ผ่านมาก็เพราะมัวไปหลงกายภาพรอบข้างจนลืมเด็ก ทำให้ปัจจัยทุกอย่างคุณภาพดีหมดยกเว้นคุณภาพผู้เรียน เรื่องนี้เป็นความจริง หากไม่เชื่อลองไปขอผลการประเมิน สมศ. ดูก็ได้.
ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 27 ม.ค. 2558 (กรอบบ่าย)--