คอลัมน์ การศึกษา: สสค. VS สมศ.
กมลทิพย์ ใบเงิน
สมศ.จวก สสค.วิจัยผิดพลาด ยันไม่ได้ดึงครูจากห้องเรียน
ข่าวพาดหัวนำ หน้าการศึกษาฯ นสพ.คมชัดลึก เมื่อเช้าวันพุธที่ 21 มกราคม 2558 นั้น สะท้อนถึงการทำปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ ทั้ง สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) สมศ.ในความรับผิดชอบของ ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ในความรับผิดชอบของ นพ.สุภกร บัวสาย ว่ากันว่า ก่อนสิ้นปี 2557 'สสค.' ได้เปิดผลวิจัยอันลือลั่นสั่นสะเทือนไปทั้งวงการศึกษา สรุปใจความได้ว่า งานวิจัยชี้ว่า "ใน 1 ปี มีวันเปิดเรียน 200 วัน ครูต้องใช้เวลากับกิจกรรมที่ไม่ใช่การสอบถึง 84 วัน คิดเป็นร้อยละ 42 โดยอันดับ 1 ที่ครูใช้เวลามากที่สุด คือการประเมินจากหน่วยงานภายนอก (ประเมิน ร.ร. / ครู / นร.) 43 วัน โดยใช้เวลากับการประเมิน สมศ.มากที่สุด 9 วัน"
ดูเหมือนว่าผลวิจัย สสค. ชิ้นนี้ ทำให้ ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ.สมศ. นั่งแทบไม่ติดเก้าอี้ พร้อมกับการนัดสื่อมวลชน แถลงข่าวในช่วงเช้าของวันอังคารที่ 20 มกราคม 2558
"ถือเป็นงานวิจัยที่ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เกิดผลกระทบในทางลบ และเกิดการชี้นำสังคมไปในทางที่ไม่ถูก เพราะงานวิจัยชิ้นนี้ดูจากฐานคิดก็ผิดแล้ว เนื่องจาก สมศ.ได้ใช้เวลาในการประเมินสูงสุดเพียง 3 วัน ใน 5 ปี หรือเฉลี่ย 5 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น ดังนั้น สมศ.ไป 1 ครั้งใน 5 ปี และใน 1 ครั้งไปเพียง 3 วัน อยากถามว่า 9 วัน เอาฐานคิดมาจากไหน อีกทั้งตามแผนภูมิในการวัดเป็น 1 ปี แต่ สมศ. 5 ปี ตั้งต้นก็ผิด ก็พลาดแล้ว จะมาบอกว่า สมศ.ใช้เวลาอันดับ 1 ไม่ถูกต้อง
"เมื่อผลวิจัยดังกล่าวเผยแพร่สู่สังคม ก็เป็นการชี้นำสังคมไปในทางที่ไม่ถูก ทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน เมื่อชี้นำผิดแบบนี้ สมศ.ก็ตกเป็นจำเลยสังคมแล้วใครจะรับผิดชอบ ซึ่งงานวิจัยของไทยจำนวนไม่น้อยที่เป็นแบบนี้ และไม่สามารถนำไปใช้ได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดผลกระทบในทางลบ ดังนั้น คุณภาพงานวิจัยจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก"
ศ.ดร.ชาญณรงค์ อธิบายอีกว่าการประเมินภายนอกของ สมศ.ถ้าวิถีชีวิตครูดำเนินไปตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ หรือข้อปฏิบัติที่ตามต้นสังกัดกำหนดให้ ใครสอนอะไรให้เตรียมการสอนวิชานั้น เพื่อกำหนดว่าสอนอะไร วัตถุประสงค์เพื่ออะไร ประเมินเด็กอย่างไร วางแผนการสอนเป็นชั่วโมง ประเมินการสอน และนำผลการประเมินนั้นมาพัฒนา เอกสารที่ครูทำก็จะนำไปมาใช้ในการประเมินภายในและประเมินภายนอก สมศ.
"แต่ชีวิตจริงไม่ใช่ ครูไม่ได้ทำ ครูสอนโดยไม่บันทึก ไม่ได้มีแผนการสอน พอ สมศ.ไปประเมิน ครูต้องมาทำเอกสารต่างๆ เพื่อการประเมิน แสดงว่าวิถีชีวิตครูไม่ใช่วิถีชีวิตคุณภาพ สมศ.จึงอยากให้ครูพัฒนาการเรียนการสอน" ศ.ดร.ชาญณรงค์ สะท้อนภาพครูไทย
ขณะที่ ดร.ไกรยศ ภัทรวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. ชี้แจงว่า ผลการวิจัยชิ้นนี้ได้ดำเนินการตามหลักวิชาการ โดยสุ่มตัวอย่างจากครูสอนดีทุกตำบลทั่วประเทศ ซึ่งผลการวิจัยที่ระบุว่าใช้เวลากับการประเมิน สมศ.มากที่สุด 9 วันนั้น มาจากคำถามเกี่ยวกับกิจกรรมภายนอกชั้นเรียน ที่ครูต้องมีการเตรียมการ เช่น การจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง การเดินทาง และการพบปะกับเจ้าหน้าที่ว่าต้องใช้เวลากี่วัน ดังนั้น ผลการวิจัยนี้จึงรวมถึงเวลาในการเตรียมการด้วย ไม่ใช่เวลาที่เข้ามาประเมินเพียงอย่างเดียว และคำถามนี้มีครูที่ตอบว่าใช้เวลามากกว่า 9 วัน เป็นจำนวนมาก แต่ สสค.นำมาหาค่าเฉลี่ยจนได้ผลวิจัยที่ 9 วัน
"ผลการวิจัยมาจากเสียงสะท้อนของครูทั่วประเทศ เราจำเป็นต้องฟัง และมาร่วมกันหาคำตอบ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์ของครูที่ไม่เคยส่งเสียงมาให้สังคมได้รับทราบเลย ซึ่ง สสค.ไม่สามารถจะมาแก้ตัวเลขที่ครูบอกได้ เรามีแต่ข้อเท็จจริง มีเอกสารเป็นตั้งๆ และไม่ได้มุ่งชี้ผลการวิจัยไปที่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ดังนั้น อยากให้ลองลงพื้นที่ไปสอบถามครูดู และความจริงก็จะปรากฏ" ดร.ไกรยศ กล่าว
ดูเหมือนว่า ข้อโต้แย้งระหว่าง 'สสค.' และ 'สมศ.' น่าจะได้บทสรุปที่ลงตัว ผ่านมุมมองของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่า หากมองแบบเป็นกลางจะพบว่าทั้งข้อมูลการวิจัยของ สสค. และประเด็นที่สมศ.ยกขึ้นมาชี้แจงนั้น ไม่ใช่ตัวเลขจริงทั้งหมด แต่เป็นตัวเลขการสำรวจครูบางกลุ่ม ฉะนั้น ต้องยอมรับว่าไม่มีงานวิจัยใดที่สมบูรณ์ จึงไม่ควรเสียเวลาเรื่องวันที่ใช้มากน้อยเพียงใด
"แต่สิ่งสำคัญคือ ความรู้สึกกังวลใจ และความทุกข์ของครูที่เกิดขึ้นจริงผ่านกระบวนการประเมิน สิ่งที่ควรทำคือ การช่วยกันทบทวนการประเมิน เรื่องตัวชี้วัดต่างๆ ว่ามีคุณภาพเพียงพอ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างมีคุณภาพได้ และไม่เป็นภาระให้ครูน่าจะเป็นทางออกร่วมกันที่ สมศ.และทุกฝ่ายที่เข้าไปทำกิจกรรมกับครู"
ผู้เขียนได้แต่หวังว่า ทั้ง 'สสค.และ สมศ.' จะลด ละ 'อัตตา' เพื่อหาทางออกร่วมกัน ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย จะดีขึ้นได้ต้องทำอย่างไรบ้าง เน้อ!!
ที่มา เนชั่นสุดสัปดาห์ 23 January 2015