เหตุร.ร.แตกต่างไม่เหมาะใช้เกณฑ์เดียวประเมิน พร้อมเผย สนช.อยากเห็นสมศ.ปรับเกณฑ์ที่สะท้อนคุณภาพเด็กไม่ใช่โฟกัสไปที่ตัวบุคคล
ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าสำหรับผลวิเคราะห์การประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่ระบุว่า ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด เนื่องจากการโยกย้ายของผู้บริหาร หรือ ครู ทำให้คุณภาพของสถานศึกษาผูกติดกับตัวบุคคลไม่ใช่ระบบนั้น ตนพร้อมและยินดีรับฟังผลประเมินของ สมศ.อยู่แล้ว โดยที่ผ่านมา สมศ.มีหลักเกณฑ์เดียวที่ใช้ประเมินคุณภาพสถานศึกษาทั้งประเทศ ซึ่งโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีลักษณะแตกต่างกัน ดังนั้น เกณฑ์ที่ สมศ.จะนำมาใช้ควรประเมินโรงเรียนเพียงบางส่วนมากกว่าใช้หลักเกณฑ์เดียวแล้วประเมินโรงเรียนทั้งหมด อยากให้ สมศ.มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินใหม่ โดยดูความสมัครใจและความพร้อมของโรงเรียนเป็นอันดับแรก ซึ่งหากโรงเรียนไหนมีความพร้อมก็ให้เข้ารับการประเมิน อีกทั้งที่ประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) อยากให้ สมศ.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินใหม่ โดยเฉพาะการใช้วิธีจ้างบริษัทจากภายนอกเข้ามาทำงานอาจไม่เข้าใจบริบทของโรงเรียนๆต่างอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ส่วนประเด็นที่ระบุว่าการโยกย้ายผู้บริหารและครูบ่อยครั้งทำให้คุณภาพสถานศึกษาผูกติดกับตัวบุคคลไม่ใช่ระบบนั้น ตนยอมรับว่าเป็นปัญหาจริง เพราะในระบบการโยกย้ายของ สพฐ.เมื่อถึงเวลาประมาณ 2 ปี ก็ต้องมีการโยกย้ายครู หรือ ผู้บริหารโรงเรียนแล้ว เพื่อเส้นทางการเจริญเติบโตก้าวหน้าของแต่ละคน ซึ่งหากเป็นไปได้ สมศ.น่าจัดทำเกณฑ์การประเมินมุ่งไปที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กมากกว่าไปโฟกัสที่บุคลากร
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ วันที่ 21 มกราคม 2558