กรณีการวิจัยเรื่องกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตเยาวชน (สสค.) ซึ่งระบุว่า กิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ครูต้องใช้เวลามากที่สุด คือการประเมินจากหน่วยงานภายนอก 43 วัน โดยใช้เวลาการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มากที่สุด 9 วัน นั้น ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ.สมศ. กล่าวว่า สถานศึกษาจะเข้ารับการประเมิน 5 ปี 1 ครั้ง และ สมศ.จะทำการประเมินครั้งละ 3 วันเท่านั้น จึงคิดว่าฐานข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยของ สสค.คลาดเคลื่อน ทำให้ผลออกมาคลาดเคลื่อน จนเกิดความเข้าใจผิด ทำให้ สมศ.ตกเป็นจำเลยของสังคม
ดร.ไกรยศ ภัทรวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า ผลการวิจัยชิ้นนี้ได้ดำเนินการตามหลักวิชาการ โดยสุ่มตัวอย่างจากครูสอนดีทุกตำบลทั่วประเทศ ซึ่งผลการวิจัยที่ระบุว่าใช้เวลากับการประเมิน สมศ.มากที่สุด 9 วันนั้น ครูต้องเตรียมการ เช่น การจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง การเดินทาง และการพบปะกับเจ้าหน้าที่ โดยพบว่ามีครูที่ตอบว่าใช้เวลา 3 วันอยู่ 93 คน หรือครูบางคนต้องใช้เวลาเตรียมงานตั้งแต่ 30 วันขึ้นไปอยู่ 63 คน ทั้งนี้ ตัวเลขที่ปรากฏ 9 วันนั้นเป็นการหาค่าเฉลี่ย ถือเป็นงานวิจัยที่สะท้อนเสียงจากครูเพื่อหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งนี้ สสค.ยินดีที่จะชี้แจงข้อมูลงานวิจัย แต่ก็ยังไม่ได้รับจดหมายเชิญแถลงข่าวจาก สมศ.
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วย รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า หากมองแบบเป็นกลางจะพบว่าทั้งข้อมูลการวิจัยของ สสค.ที่มาชี้แจงนั้น เป็นตัวเลขการสำรวจครูบางกลุ่ม ฉะนั้นต้องยอมรับว่า ไม่มีงานวิจัยใดที่สมบูรณ์จึงไม่ควรเสียเวลาเรื่องวันที่ใช้มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งสำคัญคือ ความรู้สึกกังวลใจ และความทุกข์ของครูที่เกิดขึ้นจริงผ่านกระบวนการประเมิน และช่วยกันทบทวนการประเมิน เรื่องตัวชี้วัดต่างๆว่ามีคุณภาพเพียงพอ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างมีคุณภาพได้ และไม่เป็นภาระให้ครูน่าจะเป็นทางออกร่วมกัน.
ที่่มา ไทยรัฐ วันที่ 21 มกราคม 2558