วันนี้ (20 ม.ค.) ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า ตามที่งานวิจัยเรื่อง กิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตเยาวชน (สสค.) ระบุว่ากิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ครูต้องใช้เวลามากที่สุดเป็นอันดับแรกคือ การประเมินจากหน่วยงานภายนอก 43 วัน โดยใช้เวลากับการประเมิน สมศ.มากที่สุด 9 วันนั้น ตนขอชี้แจงว่า ผลวิจัยดังกล่าวน่าจะมีความคลาดเคลื่อน และเป็นงานวิจัยที่นำไปประยุกต์ใช้ไม่ได้ เพราะดูจากฐานคิดก็ผิดแล้ว ซึ่งในแผนภูมิอธิบายผลใช้ฐาน 1 ปี แต่การประเมินของ สมศ. เข้าไปประเมิน 1 ครั้งใน 5 ปี และ 1 ครั้ง เข้าไปประเมิน 3วัน เฉลี่ยประมาณ 5 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น ดังนั้นจะมาคิดรวมอยู่ในฐาน 1 ปีไม่ได้
“ผลวิจัยดังกล่าวชี้นำสังคมไปในทางที่ไม่ถูก ทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อน เมื่อชี้นำผิดแบบนี้ สมศ.ก็ตกเป็นจำเลยสังคมแล้วใครจะรับผิดชอบ ซึ่งงานวิจัยของไทยจำนวนไม่น้อยที่เป็นแบบนี้ และไม่สามารถนำไปใช้ได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดผลกระทบในทางลบ ดังนั้นคุณภาพงานวิจัยจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก” ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวและว่า ความจริงแล้ว หากครูดำเนินไปตามข้อปฏิบัติที่ต้นสังกัดกำหนด มีการวางแผนการสอนอยู่ตลอดเวลา เมื่อ สมศ.เข้ามาประเมินก็สามารถใช้เอกสารเหล่านั้นได้เลย โดยไม่ต้องเตรียมตัว แต่ชีวิตจริงครูส่วนหนึ่งไม่ได้ทำแบบนี้เลย สอนโดยไม่บันทึก ไม่มีแผนการสอน เมื่อ สมศ.มาประเมินก็ต้องมานั่งทำเอกสาร ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตครูไม่ใช่วิถีชีวิตคุณภาพ
ดร.ไกรยศ ภัทรวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า ผลการวิจัยชิ้นนี้ได้ดำเนินการตามหลักวิชาการ โดยสุ่มตัวอย่างจากครูสอนดีทุกตำบลทั่วประเทศ ซึ่งผลการวิจัยที่ระบุว่าใช้เวลากับการประเมิน สมศ.มากที่สุด 9 วันนั้น มาจากคำถามเกี่ยวกับกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ครูต้องมีการเตรียมการ เช่น การจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง การเดินทาง และการพบปะกับเจ้าหน้าที่ว่าต้องใช้เวลากี่วัน ดังนั้นผลการวิจัยนี้จึงรวมถึงเวลาในการเตรียมการด้วย ไม่ใช่เวลาที่เข้ามาประเมินเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามคำถามนี้มีครูที่ตอบว่าใช้เวลามากกว่า 9 วัน เป็นจำนวนมาก แต่เราก็นำมาหาค่าเฉลี่ยจนได้ผลวิจัยที่ 9 วัน
“ผลการวิจัยมาจากเสียงสะท้อนของครูทั่วประเทศ เราจำเป็นต้องฟัง และมาร่วมกันหาคำตอบ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์ของครูที่ไม่เคยส่งเสียงมาให้สังคมได้รับทราบเลย ซึ่ง สสค.ไม่สามารถจะมาแก้ตัวเลขที่ครูบอกได้ เรามีแต่ข้อเท็จจริง มีเอกสารเป็นตั้งๆ และไม่ได้มุ่งชี้ผลการวิจัยไปที่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ดังนั้นอยากให้ลองลงพื้นที่ไปสอบถามครูดู และความจริงก็จะปรากฏ”ดร.ไกรยศ กล่าว
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วย รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า หากมองแบบเป็นกลางจะพบว่าทั้งข้อมูลการวิจัยของ สสค. และประเด็นที่ สมศ.ยกขึ้นมาชี้แจงนั้น ไม่ใช่ตัวเลขจริงทั้งหมด แต่เป็นตัวเลขการสำรวจครูบางกลุ่ม ดังนั้นต้องยอมรับว่า ไม่มีงานวิจัยใดที่สมบูรณ์จึงไม่ควรเสียเวลากับเรื่องวันที่ใช้มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งสำคัญคือ ความรู้สึกกังวลใจ และความทุกข์ของครูที่เกิดขึ้นจริงผ่านกระบวนการประเมิน ซึ่งสิ่งที่ควรทำคือ การช่วยกันทบทวนการประเมิน เรื่องตัวชี้วัดต่างๆว่ามีคุณภาพเพียงพอ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างมีคุณภาพหรือไม่ และไม่เป็นภาระให้ครูด้วย.
ที่มา เดลินิวส์ วันอังคาร 20 มกราคม 2558
สมศ.ค้านผลวิจัย สสค.ชี้คลาดเคลื่อนทำตกเป็นจำเลยสังคม “ไกรยศ” ยันวิจัยยึดหลักวิชาการ-สะท้อนความทุกข์ครู
สมศ. เคืองใจผลวิจัย สสค. ระบุครูใช้เวลากับการประเมินของ สมศ. มากถึง 9 วัน เป็นงานวิจัยคลาดเคลื่อน ใช้ฐานคิดผิดแค่ 1 ปี ทั้งที่ สมศ. ประเมินรอบ 5 ปี เพียง 1 ครั้ง ใช้เวลาแค่ 3 วันเท่านั้น ระบุถ้าครูจัดการสอนตามแผนการศึกษา จะไม่มีปัญหาทั้งประเมินภายในและภายนอก ด้าน สสค. สวนกลับให้ลงพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนของครู ยันทำวิจัยบนฐานวิชาการ และสุ่มจากครูสอนดีทั่วประเทศ ย้ำไม่ชี้ชัดไปองค์กรใดองค์กรหนึ่งแต่สะท้อนความทุกข์ครูด้วยข้อเท็จจริง
วันนี้ (20 ม.ค.) ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ.สมศ. เปิดเผยว่า ตามที่งานวิจัยเรื่อง กิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตเยาวชน (สสค.) ระบุว่า กิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ครูต้องใช้เวลามากที่สุดเป็นอันดับแรก คือ การประเมินจากหน่วยงานภายนอก 43 วัน โดยใช้เวลากับการประเมิน สมศ. มากที่สุด 9 วันนั้น ตนขอชี้แจงว่า ผลวิจัยดังกล่าวน่าจะมีความคลาดเคลื่อน และเป็นงานวิจัยที่นำไปประยุกต์ใช้ไม่ได้ เพราะดูจากฐานคิดก็ผิดแล้ว ซึ่งในแผนภูมิอธิบายผลโดยใช้ฐาน 1 ปี แต่การประเมินของ สมศ. เมื่อครบรอบ 5 ปี จะประเมิน 1 ครั้ง ใช้เวลาประเมิน 3 วัน เฉลี่ยประมาณ 5 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น จึงไม่สามารถนำมาคิดรวมอยู่ในฐาน 1 ปีไม่ได้
“เมื่อผลวิจัยดังกล่าวถูกเผยแพร่สู่สังคม ทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนเป็นการชี้นำสังคมไปในทางที่ไม่ถูก และเมื่อชี้นำผิด สมศ. ก็ตกเป็นจำเลยสังคมแล้วใครจะรับผิดชอบ ซึ่งงานวิจัยของไทยจำนวนไม่น้อยที่เป็นแบบนี้ ไม่สามารถนำไปใช้ได้ และยังทำให้เกิดผลกระทบในทางลบ ดังนั้น คุณภาพงานวิจัยจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก” ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าว
ผอ.สมศ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า ถ้าวิถีชีวิตครูดำเนินไปตามข้อปฏิบัติที่ต้นสังกัดกำหนด ใครสอนอะไรให้เตรียมการสอนวิชานั้น ทั้งกำหนด วัตถุประสงค์ และประเมินเด็ก มีการวางแผนการสอน ประเมินการสอน และนำผลการประเมินนั้นมาพัฒนา ซึ่งเอกสารต่างๆ ที่ครูทำก็จะถูกนำมาใช้ในการประเมินภายในและประเมินภายนอกของ สมศ. ได้ แต่ชีวิตจริงไม่ใช่ ครูไม่ได้ทำ ครูสอนโดยไม่บันทึก ไม่มีแผนการสอน เมื่อ สมศ. ไปประเมิน ครูต้องมาทำเอกสารต่างๆ เพื่อการประเมิน แสดงว่าวิถีชีวิตครูไม่ใช่วิถีชีวิตคุณภาพ สมศ. จึงอยากให้ครูพัฒนาการเรียนการสอน
ด้าน ดร.ไกรยศ ภัทรวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า ผลการวิจัยชิ้นนี้ดำเนินการตามหลักวิชาการ โดยสุ่มตัวอย่างจากครูสอนดีทุกตำบลทั่วประเทศ ซึ่งผลการวิจัยที่ระบุว่าใช้เวลากับการประเมิน สมศ. มากที่สุด 9 วันนั้น มาจากคำถามเกี่ยวกับกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ครูต้องมีการเตรียมการ เช่น การจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง การเดินทาง และการพบปะกับเจ้าหน้าที่ว่าต้องใช้เวลากี่วัน ดังนั้น ผลการวิจัยนี้จึงรวมถึงเวลาในการเตรียมการด้วย ไม่ใช่เวลาที่เข้ามาประเมินเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามคำถามนี้มีครูที่ตอบว่าใช้เวลามากกว่า 9 วัน เป็นจำนวนมาก แต่เราก็นำมาหาค่าเฉลี่ยจนได้ผลวิจัยที่ 9 วัน
“ผลการวิจัยมาจากเสียงสะท้อนของครูทั่วประเทศ เราจำเป็นต้องฟัง และมาร่วมกันหาคำตอบ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์ของครูที่ไม่เคยส่งเสียงมาให้สังคมได้รับทราบเลย ซึ่ง สสค. ไม่สามารถจะมาแก้ตัวเลขที่ครูบอกได้ เรามีแต่ข้อเท็จจริง มีเอกสารเป็นตั้งๆ และไม่ได้มุ่งชี้ผลการวิจัยไปที่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ดังนั้น อยากให้ลองลงพื้นที่ไปสอบถามครูดู และความจริงก็จะปรากฏ”ดร.ไกรยศ กล่าว
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 มกราคม 2558