คอลัมน์ Education Ideas
โดย วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ facebook.com/ajWiriya
นักการศึกษา อาจารย์ในประเทศต่าง ๆ ได้วิจัย และสร้างรูปแบบการสอนใหม่ (New Learning Model) แทนการสอนแบบเดิม โดยคาดหวังว่าการสอนแบบใหม่นี้จะช่วยให้ผู้เรียนมีความตื่นตัวในห้องเรียนคือ เป็นผู้เรียนที่ตื่นตัว (Active Learner) แทนการนั่งรออาจารย์สอนแบบเฉื่อยชา (Passive Learner)
รูปแบบการสอนใหม่ ๆ เหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ด้วย เช่น การสอนแบบ Problem-based Learning (PBL) การอบรมแนวทางการสอนแบบ Flipped Classroom และ STEM ซึ่งทั้งหมดมีวัตถุประสงค์หลักคือ การทำให้ห้องเรียนเป็นห้องเรียนตื่นตัว Active Classroom แต่ละรูปแบบจะต่างกันที่รายละเอียด และวิธีการนำเสนอ ซึ่งรูปแบบใดจะได้ผลดี หรือเหมาะกับใครนั้นขึ้นอยู่กับบริบทและการนำไปใช้ของแต่ละสถาบันการศึกษา
ประเทศเราเริ่มเปลี่ยนแปลงกันมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2542โดยเป้าหมายหลักของการปฏิรูปคือการเปลี่ยนการสอน และเปลี่ยนการประเมินผล เพื่อทำให้ผู้เรียนมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 คือ มีทักษะในการเรียนรู้ทักษะในการคิด ทักษะในการทำงาน และทักษะชีวิต
โดยได้มีการนำแนวคิด และรูปแบบการสอนแนวทางใหม่รูปแบบต่าง ๆ มาจัดอบรมให้ผู้บริหาร เขตพื้นที่ ศึกษานิเทศก์และครูบางส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้นำกลับไปขยายผลต่อ เช่น การอบรมการสอนแบบ Problem-based Learning (PBL) การสอนแบบ Flipped Classroom และล่าสุดคือ รูปแบบการสอนแบบ STEM แต่ทุกวันนี้ การเรียนการสอนในสถานศึกษาส่วนใหญ่ยังคงการสอนแบบดั้งเดิม
สาเหตุที่สำคัญ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงการสอน สรุปได้ดังนี้
1.ผู้สอน จบการศึกษามาด้วยวิธีการสอนแบบเก่า ความคิดที่ว่าการสอนแบบใหม่เหมาะสมกว่า ดีกว่าแบบเดิม จึงไม่ชัดเจน ทำให้แรงจูงใจของผู้สอนที่จะเปลี่ยนการสอนจึงมีไม่มาก
2.ผู้สอน คุ้นเคยการสอนด้วยวิธีการแบบเก่า การเปลี่ยนการสอนเป็นเรื่องยุ่งยากกว่าการสอนแบบเดิมที่ทำมานาน
3.การอบรมสัมมนา ส่วนมากใช้วิธีการบรรยาย ให้แนวทาง บอกวิธีการ และแจกเอกสารให้นำไปใช้ ผู้เข้าอบรมบางส่วนได้แค่เพียงรับรู้ บางส่วนเข้าใจวิธีการ แต่แทบทั้งหมดไม่สามารถนำไปใช้ได้ และยังคงกลับไปสอนแบบเดิม
4.การอบรมสัมมนา ส่วนมากจะเน้นไปที่จำนวนผู้เข้าอบรมมากกว่าการเน้นสัมฤทธิผล ซึ่งการจะเปลี่ยนการสอนได้นั้นต้องใช้เวลามาก และต้องอบรมแบบปฏิบัติการจริง
5.ขาดการให้ความรู้ต่อเนื่อง ขาดเครือข่ายเรียนรู้ (Professional Learning Community) และส่วนมากขาดประสิทธิภาพในการติดตามผล
6.ปัญหาสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนการสอนทำได้ยากมากที่สุดคือการคัดเลือกผู้เรียนเข้าเรียนต่อในระดับต่างๆยังใช้รูปแบบการสอนแบบดั้งเดิม
7.เรื่องสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่เรายังขาดไปคือ การให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง คือ ผู้เรียน ผู้ปกครอง ให้เข้าใจความจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนการสอน เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมมือและส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้
ถ้าเรายังวนเวียนอยู่กับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างยุบย้ายหน่วยงานเพิ่มลดวิชาปรับเปลี่ยนหลักสูตร เราคงต้องพายเรือในอ่างกันต่อไป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 16 ม.ค. 2558
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ปฏิรูปการศึกษาไทย พายเรือในอ่าง (1)