ก.ค.ศ.เร่งปรับเกณฑ์พิจารณาวิทยฐานะครู ตั้งกรรมการที่มาจากคนนอกเข้ามาร่วมประเมินด้วย และจะทบทวนผลงานครูผู้ที่ได้วิทยฐานะไปแล้วเป็นระยะๆ หรืออย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังเพิ่มบทบาทกรรมการชุดพิจารณาวิทยฐานะยังต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาครูด้วย
นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาฯ ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุม ก.ค.ศ. เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการประ เมินให้สอดคล้องกับมาตรฐานของนักเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมประเมินวิทยฐานะครูจำนวน 2 ชุด ประกอบด้วย
1.คณะกรรมการพิจารณาข้อตกลงใน การพัฒนางานและประเมินสรุปผลการพัฒนางานตามข้อตกลง และ
2.คณะกรรมการประเมินเพื่อพัฒนา โดยการประเมินจะดำเนินการเป็นระยะๆ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงตลอดระยะเวลาของการพัฒนางานตามข้อตกลง
ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะใช้ประเมินตั้งแต่วิทยฐานะชำนาญการถึงวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ และต้องประเมินเพื่อให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามลำดับ สำหรับคุณสมบัติครูผู้ขอรับการประเมินมีทั้งหมด 5 ข้อ คือ
1.จะต้องยื่นคำขอได้ก่อนที่ จะดำรงวิทยฐานะครบตามที่กำหนดในมาตรฐานวิทยฐานะได้ก่อนไม่เกิน 2 ปี
2.มีภาระงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบตามที่ส่วนราชการกำหนด
3.ผ่านการพัฒนาจากส่วนราชการ 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ความรู้ความสามารถเชิงทฤษฎี ส่วนที่สอง ประสบการณ์วิชาชีพ
4.มีข้อตกลงในการพัฒนางาน โดยต้องมีระยะเวลาในการพัฒนางานไม่น้อยกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี และ
5.ต้องได้รับการรับรองว่าเป็นผู้มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพจากผู้บังคับบัญชาชั้นต้น
ทั้งนี้ ทาง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มอบหมายให้เร่งดำเนินการจัดทำคู่มือและรายละเอียดในการใช้แบบประเมินต่อไป
ขณะเดียวกัน ทาง ก.ค.ศ.ได้ดำเนินการสร้างขวัญและกำลังใจครูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการมอบเงินวิทยพัฒน์ให้บุคลากรครูที่มีผลงานริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งหลักเกณฑ์ในการพิจารณารูปแบบการมอบเงิน ที่ประชุมจะมีการหารือข้อสรุปอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกณฑ์ประเมินวิทยาฐานะใหม่ของครูสายผู้สอนจะให้น้ำหนักของผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนร้อยละ 80% โดยผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนจะดูจากคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ผลการทดสอบกลางที่กำลังจะดำเนินการอยู่ คะแนนด้านปัญญาจิตสาธารณะ ส่วนอีก 20% จะดูปริมาณและสภาพงานของครูผู้ขอ สำหรับเกณฑ์ประเมินการขอวิทยฐานะของผู้บริหารสถานศึกษา มีแนวทางให้น้ำหนักผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนประมาณ 50% อีก 20% เป็นผลงานการส่งเสริมการพัฒนาครู การส่งเสริมจรรยาบรรณวิชาชีพ และที่เหลืออีก 30% เป็นผลงานด้านการบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมกับชุมชน
ซึ่งแนวทางการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ดังกล่าว มีจุดประสงค์ลดการเสนอผลงานด้านเอกสาร ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างหรือลอกผลงาน ที่สำคัญคือ เพื่อกลั่นกรองให้ได้ครูที่มีความสามารถและสมควรได้รับวิทยฐานะอย่างแท้จริง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์