จากข้อมูลของไทยพับลิก้า นำเสนอว่า ฐานเงินเดือนขั้นต่ำของข้าราชการครูในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2547 - 2557 ไม่รวมค่าวิทยฐานะนอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับตั้งแต่ 3,500 บาท ถึง 15,600 บาท ต่อเดือน ฐานเงินเดือนสูงสุด 66,480 บาทต่อเดือน
หากเปรียบเทียบดู ในพระราชกฤษฎีกาการปรับเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2549 รายได้ของครูผู้ช่วยขั้นต่ำชั่วคราวเริ่มต้นที่ 7,630-16,190 บาท ครู ค.ศ.1 ขั้นต่ำชั่วคราวอยู่ที่ 7,630 - 26,440 บาท ครู ค.ศ.2 ขั้นต่ำชั่วคราวอยู่ที่ 12,040 - 32,250 บาท ครู ค.ศ.3 ขั้นต่ำชั่วคราวอยู่ที่ 12,040 - 45,620 บาท ครู ค.ศ.4 ขั้นต่ำอยู่ที่ 23,230 - 48,600 บาท สำหรับครู ค.ศ. 5 มีเงินเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ 27,450 บาท จนถึง 61,860 บาทต่อเดือน
หลังจากการปรับเงินเดือนครั้งนั้นยังมีการปรับเงินเดือนขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใน 10 ปี ปรับขึ้นเงินเดือนครูถึง 6 ครั้ง โดยในปี 2556 ได้มีการปรับเงินเดือนครูรอบใหม่ โดยฐานเงินเดือนของครูผู้ช่วยขั้นต่ำอยู่ที่ 15,050 บาท ค.ศ. 1 15,440 บาท ค.ศ. 2 15,050 บาท ค.ศ. 3 15,050 บาท ค.ศ. 4 27,090 บาท และ ค.ศ. 5 29,980 บาท
นอกจากนี้ข้าราชการครูยังได้รับเงินวิทยฐานะของข้าราชการครูตามวิทยฐานะของแต่ละตำแหน่งอีก โดยเฉลี่ยตั้งแต่ 3,500 - 15,600 บาท สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. เปิดเผยว่า ตำแหน่งวิทยฐานะนี้ เป็นส่วนหนึ่งทำให้ครูมุ่งหวังทำผลงานทางวิชาการ โดยต้องออกไปแข่งขัน ฝึกอบรมนอกห้องเรียน เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินได้วิทยฐานะ จนทำให้งบประมาณร้อยละ 85 ของเงินงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ต้องมาใช้จ่ายในเงินเดือนของครู ส่งผลให้เงินงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มขึ้นต่อปีร้อยละ 7-8 โดยในปี 2558 กระทรวงศึกษาได้รับงบประมาณร้อยละ 19.5 ของงบประมาณทั้งประเทศ ตีเป็นเม็ดเงินกว่า 5 แสน 2 พันล้านบาท
ในขณะที่ระดับการศึกษาของเด็กไทย บนเวทีโลกในปี 2014 จากการแข่งขัน World Competitiveness Report 2014 การศึกษาขั้นพื้นฐานเรา เป็นอันดับ 7 ของอาเซียน อันดับที่ 86 ของโลก รองจากประเทศลาว ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ด้านคุณภาพระบบการศึกษา อยู่ที่อันดับ 8 ของอาเซียน และอันดับที่ 7 ของโลก โดยรองจากประเทศกัมพูชา ลาว และฟิลิปปินส์
นักเศรษฐศาสตร์ด้านการศึกษา สสค. แนะนำทางออกของการศึกษาไทยว่า หากคืนเวลาการเรียนการสอนร้อยละ 42 ที่ครูถูกดึงไปอยู่นอกห้องเรียน เช่น การประเมินโรงเรียน การทำกิจกรรมแข่งขันต่างๆ จนไม่ได้มีเวลาในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนนั้นกลับคืนมาในห้องเรียนอย่างเต็มที่ อาจจะทำให้การศึกษาไทยมีแนวโน้มดีขึ้นจนเหมาะสมกับงบประมาณที่ได้มา
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 16 มกราคม 2558