ฮอตไม่มีใครเกินในนาทีนี้ สำหรับ "ครูโซ่" ที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนอย่างมาก กับลีลาการสอนวิชาคณิตศาสตร์ที่ขอย้ำว่าบ้าได้ใจเด็กนักเรียนในคลาสสุดๆ ด้วยการใช้เพลง "ABC ชักกระตุก" จากหนังสุดฮิต "ไอฟาย...แต๊งกิ้ว...เลิฟยู้" มาประกอบการสอน ทั้งร้อง ทั้งเต้น ทั้งสอนเลขไปด้วย ทุ่มทุนสร้างสุดๆ ทำลายกำแพงการเรียนคณิตศาสตร์อันน่าเบื่อไปอย่างราบคาบ จนคลิปวีดีโอบรรยากาศในห้องเรียนที่ไม่ต่างจากฟลอร์เต้นรำมันส์ๆ และถูกกระหน่ำแชร์บนโลกออนไลน์ในขณะนี้
โดย "ครูโซ่" เป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ สถาบันกวดวิชา ที่จังหวัดระยอง ได้เปลี่ยนการสอนอันน่าเบื่อ เครียด จำเจของวิชาคณิตศาสตร์ ที่เด็กหลายคนต้องออกอาการเบือนหน้าหนี เมื่อเห็นตัวเลขเต็มไปหมด แต่ครูโซ่ได้ทำลายกฎต่างๆ ด้วยการยำเพลงเข้าไปกับการสอน พร้อมแปลงตัวเองให้อยู่ในร่างดีเจ สอนเอง เต้นเอง ไม่ใช้สแตนด์อิน สร้างบรรยากาศสนุกสนานให้แก่การสอน แถมอินเทรนด์ด้วยการใช้เพลง "ABC ชักกระตุก" ที่ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง มาเต้นประกอบ ก็ยิ่งทำให้เด็กๆ มีอารมณ์ร่วมไปด้วย
ซึ่งหลังจากที่คลิป "ครูโซ่" ถูกเผยแพร่ออกไป มีเสียงตอบรับชื่นชมแทบทั้งสิ้น ทั้งกลุ่มนักเรียน และผู้ชมทั่วไป ถึงความ "กล้า" และไอเดียการสอนใหม่ๆ ที่ไม่จำเจ สามารถทำให้นักเรียนสนุกไปกับการเรียนวิชาที่ขึ้นชื่อว่า "ยาก" และ "น่าเบื่อ" ที่สุดวิชาหนึ่งได้ ทั้งนี้ อาจทำให้เด็กๆ หันมาสนใจอยากเรียนวิชาคณิตศาสตร์มากขึ้น
คลิปจาก Youtube : Ohozaa Clip
คลิปจาก Youtube : BlurayDiscSale
ที่มาเนื้อหาจาก มติชน วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558
'หนึ่งแสนครูดี' พ่อพิมพ์ของชาติฉบับครูโซ่
ในยุคที่โลกอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยม เพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัส ใครก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างอิสระ หากมีข้อมูลใดที่โดนใจนักท่องไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นข้อความตัวอักษร รูปภาพ หรือคลิปวีดีโอ ก็จะถูกแชร์สนั่นเน็ตในเวลาอันรวดเร็ว
ต้อนรับ “วันครูแห่งชาติ” 16 ม.ค.ของปีนี้ คลิป “ครูโซ่ มีซักคนผมจะตั้งใจเรียน.. ” ที่แพร่สะพัดอยู่ในโลกออนไลน์ขณะนี้ เพราะมีลีลาการสอนหนังสือ พร้อมๆกับเปิดเพลง “ชักกระตุก” จากภาพยนตร์ชื่อดัง “ไอฟาย..แต๊งกิ้ว เลิฟยู” ประกอบการเรียนการสอน ที่นักเรียนเห็นแล้วตอบเป็นเสียงเดียวว่า "อยากเรียน" วิชาคณิตศาสตร์ขึ้นมาทันที
หลายคนอยากทราบที่มาที่ไป ว่าครูคนดังกล่าว มีชื่อเสียงเรียงนามว่าอย่างไร “เดลินิวส์ออนไลน์” พาไปเจาะประวัติและความน่าสนใจถึงวิธีการสอนหนังสือที่แปลกไม่เหมือนใครมาให้ได้รับรู้กัน...
“เด็กที่หนีเรียน พวกไม้เบื่อไม้เมากับวิชาคณิตศาสตร์ พอปรับวิธีการสอนและทำให้เด็กจดจำ เด็กกลับอยากเข้าเรียนเพิ่มมากขึ้น แทบไม่มีใครลุกไปเข้าห้องน้ำในระหว่างการสอน เด็กจึงรู้สึกว่า ทำไมเวลาหมดเร็ว เพราะว่าอยู่กับสิ่งที่ชอบ เวลามันจึงสั้น แต่ถ้าอยู่กับสิ่งที่น่าเบื่อ จะรู้สึกเกร็งและเวลายาวนาน” เป็นคำพูดของ “ครูโซ่” หรือ นายยอดหทัย รีศรีคำ อายุ 29 ปี สอนวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนสุนทรภู่พิทยา ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง
เขาจบปริญญาตรีคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยบูรพา และเป็นหนึ่งในครูที่ได้รับรางวัล “หนึ่งแสนครูดี” ประจำปี 2557
“ครูโซ่” เข้ารับราชการตั้งแต่ปี 2553 ที่โรงเรียนสุนทรภู่พิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนในรูปแบบ 2 ภาษา (English for Integrated Studies) หรือ EIS โดยใช้ครูคนไทยสอนภาษาอังกฤษบูรณาการในทุกรายวิชา ซึ่งจะแตกต่างจากการสอนแบบ (English Program) หรือ EP ที่ใช้ครูต่างชาติเป็นผู้สอน
“การเต้น ร้อง ประกอบการสอนอย่างที่เห็นในโลกออนไลน์ ทำมา 4-5 ปีแล้ว แต่มันไม่ดังก็เท่านั้น เริ่มจากเป็นวิทยากรสอนภาษาอังกฤษให้ครูต่างจังหวัด ในตอนแรกรู้สึกอายมาก ต้องใส่แว่นตาดำพูดตลอดการบรรยาย หลังจากนั้นจึงผันตัวมาเป็นครูสอนเด็กนักเรียนที่บ้านเกิด เพราะคิดว่าอยากเห็น 50 นาทีที่ได้สอนนักเรียนมีค่าที่สุด ขอเพียง 1-2 นาทีให้เด็กมีความสุขและจำได้ว่าการเรียนวิชาอะไรก็ตาม ไม่ได้น่าเบื่อ บางครั้งก็ร้องเพลงภาษาอังกฤษประกอบการสอน เต้นประกอบเพลงบ้าง โดยใช้ในเวลาที่เด็กนักเรียนหลุดจากการเรียน ไม่สนใจ เพื่อเรียกความสนใจกลับมา ซึ่งก็ได้ผลทุกที”
วิธีการสอนของครูโรงเรียนแห่งนี้ “แปลก” แต่ “ดี” โดยครูชาวต่างชาติมีกฏว่า ห้ามพูดภาษาไทยกับครูคนไทย เช่นเดียวกันครูคนไทยและนักเรียนจะต้องสื่อสาร พูดคุยกันด้วยภาษาอังกฤษ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการใช้ และเป็นการฝึกภาษาไปโดยปริยาย อีกทั้งครูทุกคนในโรงเรียนแห่งนี้ จะสลับสับเปลี่ยนกันสอนให้ครบทุกช่วงชั้น เพราะจะต้องทำหน้าที่ครู ให้เด็กนักเรียนเห็นแบบอย่างในการพัฒนาตนเอง
“ตอนเด็กๆ ฝันว่าอยากเป็นนายร้อย อยากเป็นวิศวะ แต่แม่บอกว่าไม่จ่ายค่าเรียนให้ เพราะแม่มองว่าบุคลิกเรานั้นทำไม่ได้ ซึ่งถ้าตอนนั้นได้เรียนวิศวะ ก็คงไม่มีครูโซ่และลูกศิษย์ที่น่ารักในวันนี้”
หากต้องการทราบว่าเหตุใด “ครูโซ่” ถึงเลือกทำหน้าที่ “พ่อพิมพ์ของชาติ” ต้องย้อนไปในวัยเด็กที่ดื้อแบบไม่ลืมหูลืมตา จนมีครูท่านหนึ่งบอกกับครูโซ่ว่า “ไม่ว่าใครจะด่าเราเลวอย่างไรก็ตาม ครูคนนี้จะเชื่อมั่นในตัวลูกศิษย์” ซึ่งเป็นประโยคที่ทำให้เด็กน้อยในวันนั้นคิดว่า เมื่อโตขึ้นต้องการทำให้เห็นว่า เด็กๆ ที่อาจจะดื้อและซนไปบ้าง แต่ก็เป็นตามเพียงช่วงวัยของเด็ก แล้วหากไม่เลือกอาชีพครู ไม่สอนเด็กๆ เหล่านั้น พวกเขาจะเป็นอย่างไร นั้นคือจุดเริ่มต้นของการเลือกใช้ชีวิต “พ่อพิมพ์ของชาติฉบับครูโซ่”
“ครูโซ่” เล่าว่า จริงๆไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ เพราะตอนเรียน ม.1เกรดต่ำมาก เนื่องจากเกลียดครูท่านหนึ่ง ที่บอกกับตนว่า “คนอย่างผมไม่มีทางได้เกรด 4 คณิตศาสตร์” เป็นคำพูดที่เจ็บปวดมาก จึงอยากเอาชนะ และเริ่มฝึกตั้งแต่นั้นมา โดยช่วงเย็นจะอ่านหนังสือ ทำโจทย์เลข 4 หน้า วันต่อไปทำเพิ่ม 1 หน้า ทำหน้าเก่าซ้ำไปด้วย ก็จะจำได้เร็วขึ้น และทำต่อไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ สุดท้ายผลออกมาได้เกรด 4 จึงไปบอกอาจารย์คนที่ปรามาสผมว่า “ทำได้แล้ว” แต่ต้องร้องไห้น้ำตาไหลกับคำตอบที่ได้จากอาจารย์ “เธอเป็นคนแพ้การท้าทาย ถ้าไม่ใช้วิธีแบบนี้ จะผลักดันตนเองได้อย่างไร” ซึ่งตลอดระยะเวลา 1เทอม ผมใช้วาจาหยาบคายด่าทอ ทำกริยาไม่เหมาะสมใส่อาจารย์ และไม่คิดว่า จะมีครูคนใดที่ยอมให้ลูกศิษย์ด่าตลอดทั้งเทอม เพื่อให้เด็กมีการพัฒนา
“ความบ้า ความกล้า สนุกสนานเฮฮา ไม่เหมือนครูทั่วไป เป็นการตัดภาพลักษณ์ของครูเก่าๆ ออกไป เช่น การถือไม้เรียว ดุด่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เกลียดที่สุด พร้อมบอกกับตัวเองตลอดว่า เมื่อได้เป็นครูเมื่อไหร่ จะไม่ทำเช่นนั้น จะดูแลเด็กด้วยความรัก เด็กไม่มีทางกลัวเรา แต่ถ้าดูแลเด็กด้วยความกลัว เด็กจะเกลียด ซึ่งเมื่อจำเป็นต้องลงโทษจริงๆ ทำไปแล้วน้ำตาไหลมันก็ไหลออกมา”
ด้วยความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในวิธีการสอน จึงมีนักเรียนจากโรงเรียนอื่น ต้องการเป็นลูกศิษย์อย่างมากมาย จึงออกมาทำอาชีพเสริม คือเปิดสถาบันกวดวิชาคณิตศาสตร์สองภาษา TSOMATH ที่ จ.ระยอง สร้างลีลาการสอนแบบฉบับตนเอง โดยจะสอนไปพร้อมกับเทคนิคใหม่ๆ รวมทั้งการใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับเด็กนักเรียน ทำให้สนิทสนมใกล้ชิดกับลูกศิษย์ และได้รับการเคารพนับถือในหมู่นักเรียนหลายต่อหลายรุ่น
แต่...เด็กที่เรียนในโรงเรียนกับครูโซ่แล้ว จะไม่มีสิทธิ์เรียนพิเศษในสถาบันกวดวิชาแห่งนี้ เพราะครูโซ่มีหลักว่า “ไม่มีความจำเป็น เพราะสิ่งที่ผมสอนให้ในห้องเรียนนั้น ให้มากกว่าเสียอีก ผมเปิดกวดวิชาเพื่อเด็กที่ไม่มีโอกาสได้เรียนกับผม”
“โรงเรียนคือสังคมจำลอง ที่จำลองสิ่งที่ต้องพบเจอในอนาคต ถ้าครูไม่รัก ครูก็จะไม่ดุด่า ครูจะทำหน้าที่สอนหนังสือแล้วก็กลับบ้านอย่างนั้นก็ได้ เพียงแต่ว่าครูจะแสดงความรักที่มีให้แก่นักเรียน ด้วยวิธีที่แตกต่างกันตามบริบทของแต่ละคน”
เพียง 2 ประโยคทิ้งท้ายจากปากครูท่านนี้ “ผมเห็นเด็กนักเรียนทำโจทย์ได้ นั่นคือความสุขผม” และ “อยากให้ความทรงจำของเด็ก มีผมอยู่ข้างใน” คงเป็นสิ่งที่การันตีได้ว่าทำไมครูที่ชื่อว่า “นายยอดหทัย รีศรีคำ” ถึงได้รับรางวัลระดับประเทศ “หนึ่งแสนครูดี” ประจำปี 2557
ที่มา เดลินิวส์ วันศุกร์ 16 มกราคม 2558