ม้วลีเปรียบเปรย "ครูเปรียบเสมือนเรือจ้าง" จะค่อนข้างเลือนลางไปตามยุคสมัย แต่ใน ความเป็นจริงแล้ว บทบาทของครูยังคงไม่ต่างจากแต่ก่อนนัก เพราะต้องยอมรับความจริงว่า วันนี้ ยังมีเด็กไทยอีกจำนวนไม่น้อย ที่ขาดแคลนทั้ง กำลังทรัพย์ กำลังใจ จนถึงกำลังสมอง ที่จะช่วย ผลักดันให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้
เพื่อเป็นกำลังใจแก่คุณครูที่ยังยึดมั่นในวิชาชีพครูผู้ให้อย่างมั่นคง รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจึงถือกำเนิดขึ้น โดย คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้กล่าวถึงผลการศึกษาของ John Hattie ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยที่มีข้อมูลทางการศึกษามากที่สุดของโลกพบว่า หัวใจสำคัญที่จะมีผลต่อการยกระดับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนคือ ความสัมพันธ์ ที่ดีระหว่างครูกับเด็กในชั้นเรียน รางวัลสมเด็จ เจ้าฟ้ามหาจักรี จึงเป็นรางวัลพระราชทานให้แก่ ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์และ ยังส่งผลต่อคุณูปการแก่วงการศึกษา เพื่อเฉลิม- พระเกียรติสมเด็จพระเทพฯในวโรกาสพระชนมายุครบ 60 พรรษา
ที่สำคัญ คือ รางวัลนี้ไม่ใช่แค่การคัดเลือกครู เพื่อได้รับรางวัล แต่หวังสร้างแรงกระเพื่อมต่อ สังคมไทยและในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 11 ประเทศ ในการเห็นคุณค่ายกย่องครู ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกครูของแต่ละประเทศเพื่อ รับพระราชทานรางวัลในวันที่ 2 ตุลาคม 2558 ในงานได้รับเกียรติจาก ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญหรือ "ดร.กองขยะ" อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่มาร่วมเล่าถึงวันวานว่า ตนเติบโตมาไม่มีต้นทุน ทั้งฐานะทางเศรษฐกิจและการอบรมสั่งสอน เพราะพ่อแม่แยกทางกันในช่วงป.3-4 และเป็นเด็กเกเร แต่ก็เพราะ "ครู" ที่ช่วยเติมเต็มชีวิตที่ขาดหายไปจนประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ เริ่มจากครูใหญ่สมัยเรียนประถมได้หยิบยื่นโอกาสให้ศึกษาต่อโรงเรียนประจำจังหวัดในโควตานักเรียนเรียนดีทั้งที่ยังมีเด็กเรียนดีกว่าตนกลับไม่ได้รับ ครูคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมที่ให้แง่คิดเรื่องความรับผิดชอบต่อการเรียนเมื่อต้องติด ร. ครูประจำชั้นที่สอนวิชาช่างในสมัยมัธยมที่รู้ว่าตนเก็บขยะขายก็คอยเรียกไปบีบนวดเพื่อแลกกับเงิน จนเมื่อเลือกเรียนต่อในวิทยาลัยเทคนิค ก็ได้พบกับครูประจำชั้น ที่คอยเปิดโอกาสให้ได้ฝึกฝนอย่างเต็มที่ และเมื่อครูรู้ว่าทางบ้านมีฐานะลำบากท่านก็หางานพิเศษให้ทำโดยไม่ต้องขอเงินแม่เรียน และยังให้โอกาสด้วยการเสนอโควตาเรียนต่อปวส. "สำหรับ ครูชลิตต์ มธุรสมนตรี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ถือเป็นครูที่ผมไม่มีวันลืมเพราะท่านเป็นมากกว่าครูและมากกว่าครูที่ปรึกษา แต่เป็น เหมือนพ่อคนหนึ่ง ซึ่งผมไม่เคยได้รับความรู้สึก ของความเป็นพ่อมาตั้งแต่เด็ก โดยครูคอยสอน คอยแก้ไขปัญหา ให้คำชี้แนะ ให้ความรักและ การเอาใจใส่จึงเปรียบเสมือนผู้ปกครองคนหนึ่ง" ดร.กุลชาติ กล่าว
เสริมโดย ทิชา ณ นคร หรือ 'ป้ามล' ผู้อำนวยการสถานพินิจเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ไม่มีใครในโลกนี้เกิดมาตั้งใจจะชั่ว ซึ่งปัจจัยร่วมที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กก้าวพลาดคือการศึกษาที่ตอบโจทย์เด็กกลุ่มใหญ่มากกว่า เด็กที่อ่อนแอเจ็บป่วยทางใจจึงกลายเป็นผู้แพ้ทางการศึกษา โดยการออกแบบการเรียนการสอนในบ้านกาญจนาฯ จะไม่ซ้ำเติม การเป็นผู้แพ้ แต่จะเพิ่มในสิ่งที่เคยพร่องในระบบการศึกษาที่เขาไม่เคยได้รับ พร้อมกับดึงด้านสว่างออกมา เช่น ให้เขียนเรื่องราวดีๆ ที่ได้ทำกิจกรรมแล้วกระตุ้นด้านสว่างให้กลับมีพลังขึ้นมาอีกครั้ง
ก่อนจะสำทับโดยคุณหญิงกษมา เพื่อเชิญชวนให้ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศร่วมบอกเล่าเรื่องราวของ "ครู" ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิต โดยถ่ายทอดเรื่องราวในรูปแบบของคลิปวีดิโอ ความยาวไม่เกิน 5 นาที สมัครได้ทีมละไม่เกิน 5 คน ชิงรางวัลกว่า 100,000 บาท ร่วมส่งผลงานภายในวันที่ 15 มีนาคม 2558 โดยจะมีการตัดสินและประกาศผลในเดือนเมษายน 2558 ซึ่งเป็นเดือนแห่งการครบรอบ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพฯ ดูรายละเอียดได้ที่ Facebook.com/ PrincessMahaChakriAward และfacebook.com/ TVburabha
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ 14 มกราคม 2558