วันนี้ (14 ม.ค.) ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มเครือข่ายครูผู้ประสบปัญหาหนี้สินขั้นวิกฤติประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยขอให้คืนความสุขให้แก่ครูที่มีภาระหนี้สินขั้นวิกฤติ เช่น หาเงินทุนให้กู้ยืมเร่งด่วนแบบปลอดดอกเบี้ย หรือ ดอกเบี้ยต่ำอย่างน้อยรายละ 2 แสนบาท ว่า ปัญหาหนี้สินครูมีการพูดกันมาหลายเวที และหลายรอบแล้ว ซึ่งพบว่ามีครูประมาณ 20,000 คนที่มีปัญหาหนี้สินขั้นวิกฤติจากครูทั้งหมดประมาณ 600,000 กว่าคน ในส่วนของศธ.นั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ดูแลหนี้สินเพียงบางส่วนเท่านั้น ส่วนกองทุนพัฒนาชีวิตครู ที่มีการปล่อยกู้ให้แก่ครู ก็ไม่ได้ดำเนินการต่อแล้ว โดย ศธ.ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ไปตั้งคณะกรรมกรรมการเพื่อดูหนี้สินทั้งหมดในภาพรวมเนื่องจาก ก.ค.ศ. มีกองทุนหมุนเวียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่ดูแลอยู่
ปลัดศธ. กล่าวต่อไปว่า ครูที่เป็นหนี้อาจมีหนี้จากเงินกู้โครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.) แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้มีการปล่อยกู้เงินเพิ่มเติม แต่หากในอนาคตจะมีการปล่อยกู้อีก ก็จะกำหนดเงื่อนไขว่า ครูที่จะกู้ได้ต้องมีเงินรายได้เหลือไม่น้อยกว่า 30% ของรายได้ต่อเดือน เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาทางการเงิน
“ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูได้ศึกษา และเสนอแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินว่า ต้องมองทั้งเชิงรุกและรับ โดยในเชิงรุกต้องพยายามอบรมให้ครูใช้จ่ายอย่างประหยัด ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง หากกู้เงินมาแล้วต้องดูว่าใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือไม่ และจะใช้จ่ายหนี้คืนได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญอย่าใช้จ่ายเกินตัว ต้องรู้จักประมาณตน ทั้งนี้ จากข้อมูลที่มี สกสค.เคยแจ้งให้ทราบ พบว่า ครูบางคนเป็นหนี้ 10-20 ล้านบาท ก็ไม่รู้เหตุผลว่าทำไมถึงมีการใช้จ่ายเยอะจนเป็นหนี้มากขนาดนี้ “ ดร.สุทธศรี กล่าว.
ที่มา เดลินิวส์ วันพุธ 14 มกราคม 2558