เมื่อวันที่ 11 มกราคม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ขยายเวลาการแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินการให้ได้มาของอนุกรรมการผู้แทนคุรุสภาในคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจำนวน 169 เขต ออกไปอีก 30 วันจากวันที่ 20 ธันวาคม 2557 เป็นวันที่ 19 มกราคม 2558 เนื่องจากต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จำนวน 169 เขต และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้เวลาพอสมควร
พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบหลักการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน โดยสาระสำคัญ อาทิ คุณสมบัติผู้ขอรับการประเมิน สามารถยื่นคำขอได้ก่อนที่จะดำรงวิทยฐานะครบตามที่กำหนดในมาตรฐานวิทยฐานะ ได้ก่อนไม่เกิน 2 ปี ผ่านการพัฒนาจากส่วนราชการ 2 ส่วน คือ ความรู้ความสามารถเชิงทฤษฎี และประสบการณ์วิชาชีพ ต้องได้รับการรับรองว่าเป็นผู้มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ จากผู้บังคับบัญชาชั้นต้น สำหรับการพัฒนางานและผลการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงาน พิจารณาจากความสามารถในการปฏิบัติงานในหน้าที่ประจำ และผลที่เกิดกับผู้เรียนหรือคุณภาพผู้เรียน โดยกำหนดให้ยื่นคำขอได้ปีละ 1 ครั้ง 2 ช่วงเวลา คือ ก่อนภาคเรียนที่ 1 และก่อนภาคเรียนที่ 2 ก่อนเปิดภาคเรียนไม่น้อยกว่า 90 วัน เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายรองผู้อำนวยการ สพท.ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.4/ ว16 ลงวันที่ 5 กันยายน 2556 ดังนี้
1.กรณีย้ายเพื่อความเหมาะสมและประโยชน์ของทางราชการ ให้ย้ายรอง ผอ.สพท.ประเภทตำแหน่งที่มีเงื่อนไข ไปดำรงตำแหน่งรอง ผอ.สพท.ประเภทตำแหน่งโครงสร้างที่ว่างอยู่ได้
2.ให้กำหนดสัดส่วนตำแหน่งรอง ผอ.สพท.ประเภทตำแหน่งโครงสร้างที่ว่าง เพื่อใช้รับย้ายและใช้ในการคัดเลือกบุคคลมาบรรจุและแต่งตั้งในสัดส่วนที่เท่ากัน 50:50
ทั้งนี้ จะทำให้ตำแหน่งรอง ผอ.สพท.ประเภทตำแหน่งที่มีเงื่อนไขซึ่งมีอยู่จำนวนมากลดลงได้เร็วขึ้น เนื่องจากตำแหน่งนี้ ก.ค.ศ.ได้กำหนดให้ยุบเลิกเมื่อมีตำแหน่งว่างลง และให้เปลี่ยนไปเป็นตำแหน่งอื่นที่เหมาะสมต่อไปได้ การแก้ไขหลักเกณฑ์นี้ จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรด้วย
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 13 ม.ค. 2558 (กรอบบ่าย)