วันนี้ (12 ม.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แถลงข่าวประกาศนโยบายให้ปี 2558 เป็นปีปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดย พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ศธ.ต้องการให้การแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขให้สำเร็จภายในปีนี้ เพราะปัญหานี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเด็ก ถ้าอ่านเขียนไม่ได้ ก็จะไม่สามารถเรียนรู้วิชาอื่นๆได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รายงานล่าสุด พบว่า มีนักเรียนประมาณ 26,000 คนที่ยังอ่านเขียนไม่ได้กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ดังนั้น จึงต้องเร่งทำให้นักเรียนในระบบการศึกษาทุกคน อ่านเขียนภาษาไทยได้ และเข้าใจในสิ่งที่อ่านเขียน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าวมี 3 แนวทาง ดังนี้ 1.ให้ สพฐ.ประกาศนโยบายและกำหนดมาตรการเร่งรัดนักเรียนให้อ่านออก เขียนได้ อ่านเขียนคล่อง และสื่อสารได้ โดยมีการกำกับติดตามการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อ ศธ. 2.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ต้องดำเนินการประกาศนโยบายแก่โรงเรียนในสังกัด มีข้อมูลการอ่านเขียนของนักเรียนทุกระดับชั้น เพื่อนำมาวิเคราะห์วางแผนการพัฒนาเด็กร่วมกับโรงเรียน และสรุปข้อมูลดังกล่าวรายงานต่อ สพฐ. มีการนิเทศ จัดทำแผนงาน กิจกรรมให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และรายงานความก้าวหน้าต่อ สพฐ.เป็นระยะ และ 3.สถานศึกษา ต้องกำหนดเป็นนโยบายสำคัญให้ครูและผู้เกี่ยวข้องดำเนินการทุกวิธีให้นักเรียนอ่านเขียนได้ตามมาตรฐานของหลักสูตร ปรับระบบบริหารจัดการให้ครูทุกคน ไม่เฉพาะครูวิชาภาษาไทย มีส่วนร่วมรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาอ่านเขียนของนักเรียน มีแผนซ่อมเสริมนักเรียนทุกคนที่มีปัญหา และซ่อมเสริมให้แล้วเสร็จ พร้อมประสานผู้ปกครองให้รับทราบปัญหา และมีส่วนร่วมในการดูแลบุตรหลานให้อ่านเขียนได้ กำกับติดตาม นิเทศ ช่วยเหลือครูในการแก้ปัญหาอ่านเขียนของนักเรียน พร้อมรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อเขตพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
“ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการอย่างจริงจังให้สำเร็จตามเป้าหมายของนโยบาย ซึ่งผมมั่นใจเกิน 100% ว่า นโยบายนี้ประสบความสำเร็จ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต จะสามารถทำให้เด็กอ่านเขียนได้ครบทั้งหมดภายในปี 2558 และจริงๆแล้ว ถ้าดำเนินการอย่างจริงจังภายใน 3-4 เดือน ก็สามารถเห็นผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน“ พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว
ด้าน ดร.กมล กล่าวว่า นโยบายของ ศธ.ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาชาติ ตั้งเป้าหมายให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามค่านิยมหลัก 12 ประการ รวมถึงมีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งการอ่านออกเขียนได้ถือเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้ในระดับสูงขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญ โดย สพฐ.มีเป้าหมายจะยกะระดับคะแนนสอบการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เอ็นที) การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และ โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (พิซา)
นายบุญรักษ์ ยอกเพชร ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาဇ(สพป.) พิษณุโลก เขต 1 กล่าวว่า นิยามของคำว่าอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แตกต่างกันในแต่ละช่วงชั้น โดยชั้น ป.1-ป.2 หมายถึงการอ่านออก เขียนได้ ชั้น ป.3-ป.4 หมายถึงการอ่านเขียนคล่อง และ ป.5 – ป.6 หมายถึงการอ่านรู้เรื่อง สรุปความได้ เขียนคล่อง ซึ่งทุกต้นปีการศึกษาจะมีตัวเลขนักเรียนทุกระดับชั้นที่มีปัญหาอ่านเขียน ซึ่งการแก้ไขปัญหาจะมีการตรวจสอบการอ่านเขียนของนักเรียนทุกคน ให้รู้ข้อมูล วิเคราะห์จุดบกพร่องของเด็กเป็นรายบุคคล เพื่อวางแผนพัฒนาเด็กได้อย่างถูกต้อง รวมถึงมีการนิเทศ ช่วยเหลือสถานศึกษาและครูในการแก้ปัญหาด้วย ซึ่งที่ผ่านมาဇสพป.พิษณุโลก เขต 1 ก็ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาพอสมควร.
ที่มา เดลินิวส์ วันจันทร์ 12 มกราคม 2558