"เชียงใหม่โมเดล" ขอสิทธิไม่รับนโยบาย ศธ.
จากการเสวนาวิชาการเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 35 ในหัวข้อ “แผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน” จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) เมื่อเร็วๆนี้ นายไพรัช ใหม่ชมภู ผอ.สำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะเลขานุการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า วิกฤติด้านการศึกษากำลังเป็นปัญหาระดับชาติ ในขณะที่การจัดการศึกษาภายใต้กรอบการทำงานแบบเดิมทำให้เกิดข้อจำกัด และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ภาคส่วนต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่ต่างตระหนักถึงปัญหานี้จึงได้ร่วมกันจัดตั้งภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาขึ้น โดยมี 120 ภาคีเครือข่าย 80 หน่วยงาน 40 บุคคล โดยมุ่งเน้นช่วยกันจัดการศึกษาในบริบทของเชียงใหม่ หรือ เชียงใหม่โมเดล เพื่อตอบสนองต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนเชียงใหม่ได้อย่างแท้จริง โดยมีสำนักการศึกษาฯ อบจ.เชียงใหม่เป็นหน่วยสนับสนุนประสานเชื่อมโยงการทำงานทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายสำคัญมุ่งสร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของคนล้านนา สร้างเด็กให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ควบคู่การมีสัมมาชีพ และให้พื้นที่จัดการตนเอง เรียกว่าเป็นการมอบอำนาจการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชน เปลี่ยนจากการสั่งการไปเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้
นายเฉลิมชาติ นครังกุล ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การศึกษาคือการสร้างคนต้นน้ำ ส่วนภาคธุรกิจคือลูกค้า ที่ผ่านมาสถาบันการศึกษาจะผลิตอย่างไรก็ได้ ไม่เคยตามไปดูผลงาน จนต้องมีเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นปัญหาอยู่ และหากปล่อยไว้ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของชาติ ภาคธุรกิจจึงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาทั้งที่ดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้อง
“ต้นเหตุของปัญหาคือค่านิยมของคนไทยที่อยากให้ลูกหลานเรียนปริญญา ทำให้สถาบันอุดมศึกษาเปิดรับเด็กตลอด ทั้งที่ควรลดอุดมศึกษาและหันไปเพิ่มอาชีวะ เหมือนประเทศเจริญแล้วที่จะมีผู้จบอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 30แต่จบอาชีวะถึงร้อยละ 70” นายเฉลิมชาติ กล่าว
พระครูศรีสิทธิพิมล เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนมองว่าการศึกษาของไทยยังขาดการสอนให้คิดวิเคราะห์ รวมถึงการศึกษาสงฆ์ด้วย แม้จะมีพระที่เรียนจบเปรียญธรรม 9 ประโยค แต่ก็แค่เก่งท่องเก่งแปลบาลี เมื่อมีปัญหาทางศาสนาเกิดขึ้น ไม่เคยเห็นออกมาแสดงความคิดเห็น มีแต่พระนักพูดเพียงไม่กี่รูป นอกจากนี้ตนยังมองว่าปัญหาการศึกษาไทยส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาทางโครงสร้างที่มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อย เมื่อเปลี่ยนคนใหม่ก็เปลี่ยนนโยบายใหม่ ซึ่งบางครั้งก็ไม่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น มีนโยบายให้สอนเด็กนักเรียนว่ายน้ำ ในขณะที่เชียงใหม่ไม่เคยนึกถึงเรื่องว่ายน้ำเลย ตนจึงอยากถามว่าแต่ละจังหวัดจะสามารถปฏิเสธนโยบายจากส่วนกลางได้หรือไม่ โดยให้เลือกรับเฉพาะนโยบายที่จำเป็นสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่เท่านั้น
ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวว่า การทำปฏิรูปจะใช้วิธีสั่งไม่ได้ แต่ต้องให้เกิดจากการก่อตัวจึงจะเป็นของจริง ซึ่งรูปแบบของเชียงใหม่โมเดลเป็นตัวอย่างของกระบวนการถอนตัวจากอำนาจ มุ่งเปลี่ยนวิธีจัดการศึกษาจากการที่ครูพูดสอนไปเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้งไม่ใช่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ซึ่งโรงเรียนที่ทำได้ตามรูปแบบนี้พบว่าเด็กเรียนอย่างมีความสุข ผู้ปกครองก็มีความสุข สังคมก็มีความสุข
“การสอนของครูก็คือการใช้อำนาจสั่งการ ซึ่งการเรียนรู้กับอำนาจไปด้วยกันไม่ได้ การสอนจึงเป็นการปิดพื้นที่ทางความคิด เพราะจะต้องท่องอย่างเดียว ไม่เกิดการเรียนรู้ ท่องแล้วก็ลืม เป็นการทุ่มกำลังไปสู่ความสูญเปล่า อีกทั้งปัญหาของประเทศไทยคือมีโครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์ จึงมีการเสนอให้คืนอำนาจให้ประชาชนมากที่สุดในรูปแบบของชุมชน หรือจังหวัดจัดการตนเอง เหมือนในสหรัฐอเมริกาที่รัฐบาลกลางไม่มีอำนาจสั่งการ แต่ท้องถิ่นจะมีอำนาจจัดการตนเองทุกเรื่อง โดยส่วนกลางแค่ทำหน้าที่สนับสนุนเชิงนโยบายและวิชาการเท่านั้น” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
ที่มา เดลินิวส์ วันพุธ 7 มกราคม 2558