ประเด็นเรื่องการเก็บภาษีจากโรงเรียนกวดวิชากลายเป็นประเด็นร้อนที่มีการถกเถียงกันในวงกว้างอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ที่ไม่น่าเชื่อยิ่งกว่าคือเป็นการถกเถียงกันที่ปลายเหตุเสียเป็นส่วนใหญ่
เพราะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยว่าสมควรเก็บสักที เพราะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ และผู้ที่ไม่เห็นด้วยที่กังวลว่าโรงเรียนกวดวิชาเหล่านั้นจะขึ้นราคาค่าเรียน ที่ตลกร้ายเห็นจะเป็นเรื่องที่เจ้าของโรงเรียนกวดวิชามิได้เดือดร้อนประการใด บอกว่าถ้าเก็บภาษีเขาก็มีความจำเป็นต้องขึ้นค่าเรียน สรุปเอาพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นตัวประกัน ในขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นด้วยที่จะไปเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา เพราะกังวลว่าเขาจะมาขึ้นราคาค่าเรียน สรุปก็คือออกมาปกป้องโรงเรียนกวดวิชาซะงั้น
ดิฉันเกิดคำถามในใจว่าถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้ส่งลูกไปเรียนกวดวิชา หรือลูกโตกันหมดแล้ว จะมีความคิดเห็นประเภทปกป้องโรงเรียนกวดวิชาด้วยหรือเปล่า !
เราอยู่ในสังคมท่ามกลางการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางและกลัวว่าผลกระทบจะเกิดต่อตัวเองมากกว่าที่จะคิดถึงประโยชน์ของส่วนรวมมานานเท่าไรกันแล้ว ?
ทำไมไม่แก้ปัญหากันให้ตรงจุดว่าจะจัดการศึกษาอย่างไรไม่ให้นักเรียนต้องไปเรียนกวดวิชากันอีก
ล่าสุด “นิด้าโพล” ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การเก็บภาษีสถาบันกวดวิชา” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 - 16 ธันวาคม 2557 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,251 คน
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอให้เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลกับสถาบันกวดวิชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.19 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะสถาบันกวดวิชาถือเป็นสถานประกอบการในเชิงพาณิชย์ หรือธุรกิจ บางสถาบันเรียกเก็บค่าเรียนสูงมาก เมื่อมีรายได้ ก็ควรจะเสียภาษีให้กับรัฐบาลเพื่อนำภาษีไปพัฒนาประเทศ
รองลงมา ร้อยละ 25.90 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อมีการเรียกเก็บภาษี สถาบันกวดวิชาอาจจะเก็บค่าเรียนเพิ่มขึ้น จะเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ปกครองเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และยังถือเป็นสถาบันการส่งเสริมการเรียนให้กับเด็ก อีกทั้งสถาบันกวดวิชามีค่าใช้จ่ายที่สูงในการจ้างบุคลากร ครู อาจารย์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จึงไม่ควรเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม และ ร้อยละ 5.91 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับ ครู/อาจารย์ ที่ไปสอนพิเศษตามสถาบันกวดวิชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.51 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ถือเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้วกับผู้ที่มีรายได้ในอัตราที่ต้องเสียภาษี โดยเฉพาะถ้าหากเป็นการสอนพิเศษแบบประจำตามสถาบันกวดวิชา รองลงมา ร้อยละ 33.09 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะถือเป็นรายได้เสริมของครู/อาจารย์ และปกติก็เสียภาษีอยู่แล้ว อาจเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อน และครู/อาจารย์ บางรายก็มีค่าใช้จ่ายมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และร้อยละ 6.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ในขณะที่ตัวเลขผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชาโรงเรียนกวดวิชาและติวเตอร์อิสระรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เฉพาะปี 2555 ประเทศไทยมีโรงเรียนกวดวิชา 2,005 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 460 แห่ง และภูมิภาค 1,545 แห่ง มีนักเรียนกวดวิชา 453,881 คน หรือ 12% ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั้งหมด โดยมูลค่าการตลาดของธุรกิจกวดวิชา ปี 2556 ประมาณ 7,160 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2555 ที่มีมูลค่า 7,000 ล้านบาท และคาดว่า ปี 2558 จะเติบโตไปสู่ 8,189 ล้านบาท เพิ่ม 5.4%
ตัวเลขข้างต้นคือตัวเลขที่ขึ้นทะเบียน แต่ในความเป็นจริงสูงกว่านี้มาก และแนวโน้มธุรกิจนี้ก็จะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆอย่างแน่นอน เพราะใครก็สามารถเข้ามาในธุรกิจนี้ได้ หรือแม้แต่ครูในระบบที่เก่ง ๆ มากมาย ได้เงินเดือนก็น้อย ถึงเวลาก็ต้องเสียภาษีทุกปี สุดท้ายพวกเขาก็เลือกออกจากระบบแล้วไปเปิดโรงเรียนกวดวิชาก็มีให้เห็นมากมาย
แล้วยิ่งโรงเรียนกวดวิชาเติบโตมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการสะท้อนว่าการศึกษาในระบบมีปัญหามากเท่านั้น เพราะเด็กนักเรียนเรียนในระบบอย่างเดียวไม่พอ
เด็กเก่งจำนวนมากที่ไม่แคร์การเรียนการสอนในระบบ แต่หันไปให้ความสำคัญกับการกวดวิชาอย่างเอาเป็นเอาตาย พ่อแม่ผู้ปกครองยอมเสียเงินมากมายเพื่อส่งให้ลูกเรียนกวดวิชา และเชื่อว่าถ้าลูกไม่เรียนกวดวิชา ไม่มีทางสอบเข้าสถานศึกษาชื่อดังหรือได้เกรดดีๆ แน่นอน
ผลกระทบก็คือ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องจ่ายเงินทั้งสองทาง !
คำถามคือเราอยู่กับสภาพปัญหา วังวนกับปัญหาเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน และปัญหาก็ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้รับการแก้ไขเลย
เรื่องเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรถูกนำมาพิจารณา เพราะเป็นธุรกิจที่ลอยนวลมายาวนาน แต่เรื่องที่สำคัญกว่า ก็คือ ทำไมธุรกิจนี้ถึงได้เติบโตมากมายขนาดนี้ ทำไมเราไม่แก้ปัญหาที่ต้นทางพร้อมกันไปด้วยล่ะ
ช่วงเวลาของการปฏิรูปการศึกษาในขณะนี้ น่าจะต้องพิจารณาถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วย อาจต้องทบทวนแบบขึงขังเอาจริงหน่อยว่าเราจะอยู่กันแบบนี้จริง ๆ หรือจะแก้ปัญหาการศึกษาในระบบให้มีประสิทธิภาพ
มิเช่นนั้นแล้ว วันหนึ่งเราอาจไปถึงจุดให้เด็กนักเรียนเรียนกับโรงเรียนกวดวิชากันให้หมดเลย ไม่ต้องเรียนในระบบซะเลย จะเอางั้นหรือ ?
ที่มา :
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000147653