3. ทิศทางการดำเนินงานด้านการศึกษา
“การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ” เป็นคำพูดที่ชี้ให้เห็นว่าการศึกษานั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาคนและประเทศ เพราะคนถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนทรัพยากรในด้านอื่นๆ ของชาติ
หากประเทศใดประชาชนมีความรู้สูง มีความฉลาดทั้งด้านปัญญา อารมณ์และจิตสำนึกเพื่อสังคม มีความเข้มแข็งทางภูมิปัญญามากพอที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ย่อมส่งผลให้ประเทศนั้นมีความเจริญตามไปด้วย
จึงสรุปได้ว่าการศึกษาเป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาชาติ เนื่องจากการศึกษาจะช่วยให้ประชาชนอ่านออกเขียนได้ คิดวิเคราะห์เป็น เรียนรู้คุณธรรมจริยธรรม ความเป็นพลเมือง และการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมตลอดจนถึงทักษะในการประกอบอาชีพและทักษะทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้มีความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลี่อมล้ำในสังคมในระยะยาว
กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่จัดและส่งเสริมการจัดการศึกษาของชาติ ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ และการพัฒนาประเทศ โดยรัฐบาลมุ่งจัดให้มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ โดยให้ความสำคัญทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษาทางเลือกไปพร้อมกัน เพื่อสร้างคุณภาพของคนไทยให้สามารถเรียนรู้ พัฒนาตนได้เต็มตามศักยภาพ ประกอบอาชีพและดำรงชีวิตได้โดยมีความใฝ่รู้และทักษะที่เหมาะสม เป็นคนดีมีคุณธรรม สร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ โดยเน้นการเรียนรู้เพื่อสร้างสัมมาชีพในพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนากำลังคนให้เป็นที่ต้องการเหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และธุรกิจบริการ
จึงได้กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในภาพรวม และทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาในอนาคต ดังนี้
เอกสารที่เกี่ยวข้อง :
1. ผลการดำเนินงานในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา (ก.ย.-ธ.ค.2557)
2. ความก้าวหน้าตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษา
แนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในภาพรวม
1. การพัฒนาและปฏิรูปการศึกษา จะต้องยึดหลักการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ และความต้องการของทุกภาคส่วนในสังคม มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเป็นไปตามกระบวนการของสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และแนวนโยบายของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การดำเนินงานเป็นที่ยอมรับและเกิดความมั่นคงยั่งยืนในระบบการศึกษาของไทย
2. การสร้างโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทย จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมโดยการน้อมนำแนวทางการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ได้โดยสะดวก และสามารถพัฒนาและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียม
3. การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับความรู้ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และปลูกฝังคุณธรรม การสร้างวินัย ปลูกฝังอุดมการณ์ความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ การมีจิตสาธารณะ ความตระหนักถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการประชาธิปไตย เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด อุดมการณ์ และความเชื่อ รวมทั้งรู้คุณค่าและสืบสานวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย
4. การส่งเสริมและยกสถานะของครูซึ่งเป็นบุคลากรหลักในระบบการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงในสังคม เป็นบุคลากรที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างที่ดี ในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม มีภูมิความรู้และทักษะในการสื่อสารถ่ายทอดความรู้ที่เหมาะสม มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครู ตลอดจนมีฐานะและคุณภาพชีวิตที่ดีสอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน
5. การบริหารและการปฏิบัติราชการกระทรวงในทุกระดับ จะต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการการปฏิบัติของทุกหน่วยงานในสังกัดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและประสานสอดคล้องกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับงานด้านการศึกษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว และตรงกับความต้องการของสังคม
ทิศทางในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา
การขับเคลื่อนการศึกษาในอนาคต กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ มีผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นคณะที่ปรึกษา เช่น ศาสตราจารย์นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ มีพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ
กรอบแนวทางการขับเคลื่อนด้านการศึกษาภาพรวม
1. การปฏิรูปครู โดยที่ผลการวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า “ครู” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการศึกษา การปฏิรูประบบครู เพื่อให้ได้ครู ดี เก่ง และมีคุณธรรม จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูขึ้น ซึ่งกรอบเพื่อดำเนินการแนวทางและมาตรการสำคัญ มีดังนี้
- ปรับระบบบริหารบุคคล เนื่องจากเป็นกระบวนการสำคัญที่จะทำให้ได้ครูและผู้บริหารที่เก่ง ดี มีคุณธรรม โดยต้องมีการปรับทั้งระบบ ได้แก่ การสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้มีความดี ความเก่งจากทุกสาขา โดยเฉพาะสาขาขาดแคลน และนักเรียนทุนให้มาเป็นครูได้
- ปรับระบบการผลิตและการพัฒนา โดยให้มีกระบวนการปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครู ให้มีการพัฒนาครูอย่างเป็นระบบ โดยเน้นพัฒนาด้านสมรรถนะในการสอน จัดให้มีคูปองการพัฒนาครู
- ปรับเกณฑ์การโยกย้าย เพื่อให้ครูและผู้บริหารได้มีระยะเวลาในการพัฒนานักเรียน และโรงเรียนให้ก้าวหน้าอย่างเหมาะสม ซึ่งมีการดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์แล้ว
- จัดทำแผนบริหารจัดการและพัฒนาครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ระยะ 5-10 ปี เพื่อบริหารจัดการในการกำหนดการลด/เพิ่ม กระจายครูที่เหมาะสมรวมทั้งวางระบบผลิตและพัฒนาและมาตรการจูงใจ แผนพัฒนาสมรรถนะ และความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ตลอดจนแนวทางการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิผล
- ปรับระบบการจูงใจ เพื่อดึงดูดและธำรงรักษาครูและผู้บริหารที่มีความรู้ ความสามารถ ความดี ให้อยู่ในระบบ ตลอดจนให้เกิดระบบที่เป็นธรรมเช่นปรับระบบฐานเงินเดือนครู
2. การปฏิรูปการเรียนรู้ โดยผลการวิจัยชี้ชัดว่า การศึกษาจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งคือ กระบวนการจัดการเรียนรู้ จึงมีแนวทางและมาตรการในการดำเนินการระยะต่อไป ดังนี้
- ส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามศักยภาพและความหลากหลายของผู้เรียน ตลอดจนเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานและคุณภาพแก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ด้วยการส่งเสริมเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ส่งเสริมการศึกษาทางเลือก ขยายผลต้นแบบ/รูปแบบที่ดีพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต โทรทัศน์เพื่อการศึกษา
- ขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระบวนการเรียนการสอน ที่เน้นความเป็นพลเมือง ประวัติศาสตร์ ระเบียบ วินัย ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ทักษะในศตวรรษที่ 21 อาชีพและภาษาอังกฤษ อย่างต่อเนื่องจากระยะเร่งด่วน
- จัดทำโครงการนำร่องโครงการปฏิรูประบบการเรียนรู้สู่ผู้เรียน (Education Reform Lab & Coaching Lab) เป็นการกระจายอำนาจลงสู่เขตพื้นที่การศึกษานำร่อง 20 เขต โรงเรียนแกนนำ 300 โรงเรียน และปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ในสาระวิชาหลักให้สูงขึ้นกว่าเดิม ฯลฯ
3. การเพิ่มและกระจายโอกาสอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง เท่าเทียม เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชน มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยมีแนวทาง ดังนี้
- พัฒนาเครือข่ายโรงเรียนให้เข้มแข็ง เพื่อช่วยกันยกระดับและพัฒนาคุณภาพ
- พัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโรงเรียนชายขอบ ตลอดจนแก้ไขปัญหาคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก
- เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม เช่น ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาร่วมกับภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) เพื่อสนับสนุนการกระจายโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ขอความร่วมมือให้ทุกสื่อจัดรายการเพื่อการศึกษาในช่วงที่เหมาะสม
- ปรับระบบกองทุนต่างๆ ทั้งระบบ เพื่อส่งเสริมผู้ด้อยโอกาสและการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง เช่น วิจัยให้ได้ข้อสรุปในเรื่องระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ระบบการจัดสรรทุน เพื่อให้มีเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่ซ้ำซ้อน และได้พัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในภาพรวม
4. การปฏิรูประบบการบริหารจัดการศึกษา โดยที่การบริหารจัดการเป็นแกนในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ในระยะปานกลาง และระยะยาวต้องมีแนวทางและมาตรการเพื่อขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องได้แก่
- ขยายผลการกระจายอำนาจการบริหารจัดการ โดยใช้โรงเรียน/พื้นที่เป็นฐานให้ครอบคลุมมากขึ้น และเพิ่มอิสระในการบริหาร สามารถตรวจสอบได้
- ปรับระบบการบริหารการอาชีวศึกษาให้มีเอกภาพ เนื่องจากปัจจุบันอาชีวศึกษาเอกชนและอาชีวศึกษาของรัฐ แยกการบริหารจัดการ ไม่มีความเชื่อมโยงกันทำให้ยังมีความลักลั่น
- แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง สร้างความโปร่งใสในแวดวงการศึกษา พร้อมปลูกจิตสำนึกสร้างวัฒนธรรมธรรมาภิบาล
5. การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อให้การผลิตและพัฒนากำลังคนสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ ควรมีแนวทางและมาตรการ ดังนี้
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อให้มีส่วนร่วมพัฒนาโรงเรียนดี-อาชีวะดี-ครูดี-สื่อดี และเรื่องอื่นๆให้มากขึ้น อันจะส่งผลให้การผลิตกำลังคนเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น
- ขยายผลการจัดหลักสูตรทวิภาคี และสหกิจศึกษา โดยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการสนับสนุนโรงเรียนในโรงงาน เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้นและมีความเป็นมาตรฐานสากล
- จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) โดยส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมจัดและสนับสนุนการอาชีวศึกษาอย่างจริงจัง
- จัดให้มีหลักสูตรทักษะอาชีพควบคู่สามัญในระดับมัธยมศึกษา อันจะช่วยเพิ่มกำลังแรงงานระดับกลาง และเป็นการเพิ่มช่องทางแก่เด็กและเยาวชนที่มีเป้าหมายเข้าสู่ระบบแรงงานระดับกลางด้วย
- พัฒนาระบบค่าตอบแทนตามสมรรถนะ ความรู้ ความสามารถ และเร่งใช้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้ค่าตอบแทนสะท้อนสมรรถนะของแรงงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบการจ้างงาน และส่งเสริมค่านิยมในการเรียนสายอาชีพ
- ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา ตลอดจนเชื่อมโยงการวิจัยและนวัตกรรมกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ
- ผลิตและพัฒนาอาจารย์ระดับปริญญาเอกเพื่อพัฒนาคุณภาพด้านวิชาการระดับสูง
- ผลิตกำลังคนตอบสนองความต้องการเร่งด่วนและการพัฒนาประเทศ โดยร่วมมือผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษาตอบสนองภาคการผลิตและบริการในสาขาจำเป็นและขยายโอกาสทางการศึกษา และยกระดับแรงงานไทยร่วมกับสถานประกอบการ โดยพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการ
- ปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษา โดยเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจระบบการเรียนอาชีวศึกษา โอกาสในการทำงาน และความก้าวหน้าของอาชีพในรูปแบบต่างๆ เปิดสอนหลักสูตรหรือฝึกอาชีพระยะสั้นในสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมให้มีการเข้าเรียนต่อในสายอาชีวศึกษา และเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต
- ยกระดับความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีศักยภาพให้มากขึ้น โดยจัดทำความร่วมมือเพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา พัฒนาทักษะวิชาชีพกับประเทศเพื่อนบ้าน
6. การปรับระบบการใช้ ICT เพื่อการศึกษา โดยที่ปัจจุบันระบบ ICT มีความก้าวหน้าและมีผลต่อการเรียนรู้อย่างมาก ในระยะต่อไปควรมีแนวทางและมาตรการเพื่อขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
- การจัดให้มีระบบ BOI การศึกษา เพื่อยกเว้นภาษี-อากรการนำเข้าอุปกรณ์ สื่อเพื่อการศึกษา
- ขยายผลระบบ Free Wifi ในสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างไม่จำกัดเวลา และสถานที่
- พัฒนากองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ
7. การพัฒนาการศึกษาระหว่างประเทศ โดยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกลุ่มประเทศในอาเซียนในระดับภูมิภาค ด้วยการจัดทำแผน กรอบแนวการดำเนินงานความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศ ในการเสริมสร้างคุณภาพและโอกาสทางการศึกษา การเคลื่อนย้ายพรมแดน การจัดการศึกษาให้เป็นสากล
ข้อมูล : สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ