สวัสดีค่ะ เพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน พบกันเช่นเคย สำหรับ สถานี ก.ค.ศ. ในวันนี้ จะพูดถึงบทบาทของครูซึ่งเป็นบุคคลที่สังคมคาดหวังและยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีของผู้เรียน ชุมชน และสังคม ต้องสุภาพเรียบร้อย จึงต้องมีขันติ-ความอดทนในการควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้ กลับใช้อารมณ์ที่รุนแรง กระทำต่อผู้อื่น อาจได้รับโทษทางอาญา และโทษทางวินัยได้ค่ะ
ดิฉันจะขอยกตัวอย่าง ข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นแล้ว กรณี นาย ก ครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งอ้างว่า นาย ข รองผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนั้น ใช้วาจาดูหมิ่นตนทำให้เกิดความอับอายขายหน้าเพื่อนครูในโรงเรียน จนทนไม่ได้จึงหาโอกาสทำร้ายร่างกาย ในเช้าวันหนึ่งซึ่งโรงเรียนมีกิจกรรมเดินทางไกลและอยู่ค่ายพักแรมของลูกเสือ-เนตรนารี นาย ก ได้ขับรถยนต์อย่างรวดเร็วไปยังบริเวณที่ นาย ข ยืนรับรายงานตัวฐาน 1 หน้าค่ายทหาร เมือจอดรถแล้วตรงไปกระชากคอเสื้อ นาย ข และต่อยจนล้มลง ใช้เท้าเตะซ้ำอีกหลายครั้ง แล้วยังลากตัวไปที่รถยนต์ของตนเพื่อจะเอาปืนในรถ ซึ่งมีผู้เคยเห็นว่า นาย ก ชอบพกปืนมาโรงเรียนเป็นประจำและยิงขู่ผู้อื่นมาแล้ว นาง ค ที่ยืนอยู่ในเหตุการณ์จึงได้รับกันประตูรถไว้ไม่ให้ นาย ก เปิดเอาปืนได้ และให้ครูอีกคนหนึ่งเอาปืนนั้นไปฝากทหารไว้ ไม่ปรากฏว่า นาย ข พูดจาดูหมิ่นด้วยเรื่องใดและไม่ตอบโต้แต่อย่างใด แต่ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาฐานทำร้ายร่างกาย ต่อมา นาย ก ได้สารภาพผิดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและยอมขอขมาต่อ นาย ข มิให้เอาเรื่องตน โดยสัญญาว่าจะไม่กระทำเช่นนั้นอีก โชคดีที่ นาย ข ให้อภัยถอนแจ้งความ และยื่นเรื่องขอย้ายด้วยเหตุป้องร้ายต่อชีวิต ซึ่งผู้บังคับบัญชาก็อนุญาตให้ย้ายไปอยู่โรงเรียนอื่น
จากเหตุการณ์นี้ ผู้บังคับบัญชาได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่ง นาย ก ก็ให้การับสารภาพต่อคณะกรรมการฯ ว่า ตนกระทำผิดจริงอันเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งลงโทษ “ภาคทัณฑ์” โดยไม่มีการสอบสวน แต่หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติกรรมที่ก้าวร้าวทำร้ายร่างกายผู้อื่นเช่นนี้ เป็นผู้ซึ่งไม่ประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ชุมชนและสังคม ไม่รักษาความสามัคคีระหว่างข้าราชการด้วยกันและกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง และมาตรา 94 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547
ซึ่งการลงโทษภาคทัณฑ์ ยังไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์ดังกล่าว หัวหน้าส่วนราชการจึงรายงาน ก.ค.ศ. ขอให้เพิ่มโทษและได้ส่งความเห็นการเพิ่มโทษมาให้ ก.ค.ศ. เพื่อพิจารณา ซึ่ง ก.ค.ศ.พิจารณาแล้วเห็นพ้องด้วย จึงมีมติให้เพิ่มโทษจากภาคทัณฑ์เป็นโทษตัดเงินเดือน นาย ก จำนวน 5% เป็นเวลา 2 เดือน
จากกรณีตัวอย่างดังกล่าว นาย ก ยังโชคดีที่ยอมรับสารภาพและสำนึกผิด จึงได้รับโทษทางวินัยไม่ร้ายแรง แต่ถ้าไม่ยอมรับผิดและนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล หากศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกก็ต้องถูกปลดออกจากราชการ จึงขอให้เพื่อนครูทุกท่าน จะต้องมีความอดทน อดกลั้น และควบคุมอารมณ์ไว้ให้ได้ จะได้ไม่ต้องรับโทษ ไม่ว่าทางอาญา หรือทางวินัย และหากท่านสามารถปฏิบัติตนได้ตามบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ เป็นครูที่ดีแล้วจะพบแต่ความเจริญก้าวหน้าต่อไป
พบกันใหม่วันจันทร์หน้าค่ะ
ศิริพร กิจเกื้อกูล
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
ที่มา มติชน วันจันทร์ ที่ 22 ธันวาคม 2557