นักวิชาการชี้พักการประเมินคุณภาพภายนอกการศึกษา 3 ปีนั้นแก้ไม่ถูกจุด โดยวัดจากคุณภาพของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของโลก สะท้อนให้เห็นว่ายังอ่อนด้อยกว่าประเทศอื่น ดังนั้นหากไม่มีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องโอกาสที่ระบบการศึกษาไทยจะพัฒนาจะต้องหยุดชะงักลง
นายจำรูญ ณ ระนอง นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงกรณีข้อเสนอให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) หยุดการประเมิน 3 ปี เพื่อปรับปรุงวิธีการประเมินให้เหมาะสม ว่า หากมีการหยุดหรือชะลอการประเมินออกไป ยิ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของไทยให้สาหัสขึ้นกว่าทุกวันนี้และอ่อนด้อยกว่าประเทศอื่นทั้งในระดับอาเซียนและระดับโลก เห็นได้จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกจากประเทศอังกฤษ ของ QS World University Ranking ในปี 2557 มหาวิทยาลัยไทยติดระดับนานาชาติ 500 อันดับแรก เพียงแค่ 2 แห่งเท่านั้น และในระดับอาเซียน พบว่าไทยอยู่ในอันดับสุดท้ายของการจัดอันดับ ซึ่งเป็นวิกฤติของชาติที่น่าเป็นห่วงและต้องรีบแก้ไขเร่งด่วนแต่ตอนนี้เรากำลังหลงทาง และแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เกาไม่ถูกที่คัน
"ทั่วโลกยอมรับว่าคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษาจะเกิดได้ เมื่อสถานศึกษามีการประกันคุณภาพภายใน มีการควบคุมด้วยตนเองและต้นสังกัด ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ปกครอง ชุมชน สังคมและรัฐบาล สำหรับการตรวจสอบจากภายนอกเพื่อยืนยันสภาพที่เป็นจริง แล้วชี้แนะให้นำผลประเมินไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพ ทั้งยังเป็นการกระตุ้นสถานศึกษาไม่ให้เกิดความเฉื่อยชา หรือชะล่าใจในเรื่องคุณภาพอีกด้วย ดังนั้น การประเมินคุณภาพภายนอกโดย สมศ. จึงเป็นสิ่งปลุกเร้าให้สถานศึกษาและผู้เกี่ยวข้องต้องปรับเปลี่ยนวิถีปฏิบัติภารกิจให้มีการประกันคุณภาพภายในที่เข้มแข็งและต่อเนื่อง จะส่งผลให้การศึกษาได้รับการพัฒนาอย่างแท้จริงฉะนั้นการที่มีข้อเสนอให้ยุบ หรือระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ สมศ.นั้นเป็นการแก้ปัญหาแบบหลงทาง หรือพูดง่ายๆว่าเกาไม่ถูกที่คัน ซึ่งการแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันสนับสนุนให้สถานศึกษาได้มีการประกันคุณภาพภายในที่เข้มแข็ง และต่อเนื่อง"
นายจำรูญ กล่าวและว่า อีกทั้งการให้ สมศ. ปรับการประเมินเป็นแบบสุ่มตรวจประเมินสถานศึกษานั้นก็ไม่สามารถบอกได้เลยว่าแต่ละสถานศึกษาที่ไม่ได้รับการประเมิน จะมีคุณภาพอย่างไร มีจุดอ่อนใดที่ต้องพัฒนา และจะต้องพัฒนาอย่างไร อย่างไรก็ตาม การที่กล่าวอ้างกันว่าการประเมินภายนอกเป็นภาระให้ครู/อาจารย์ ต้องทำเอกสาร แท้จริงแล้วเป็นการเข้าใจผิดเพราะสถานศึกษาต้องจัดเอกสารรับประเมินอยู่แล้ว และใช้เวลาประเมินเพียง 3 วันในทุก 5 ปี ทั้งนี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดวัฒนธรรมการทำประกันคุณภาพภายในอย่างต่อเนื่อง
ที่มา สยามรัฐ วันที่ 2 มกราคม 2558