คอลัมน์ Education Ideas โดย ศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
ในช่วงเวลาที่เรากำลังร่วมกันปฏิรูปการศึกษาของชาติ คำถามแรกที่เกิดขึ้นในใจของผม คือเราปฏิรูปการศึกษาเพื่ออะไร ?
อะไรคือความมุ่งหมายที่แท้จริงของการจัดการศึกษา ที่จะยังผลต่อความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของสังคมไทย และเนื่องในวโรกาสเดือนเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมขออัญเชิญพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษามา นำเสนอคู่กับความมุ่งหมายการจัดการศึกษาของประเทศชั้นนำทางด้านการศึกษา อย่างเช่นสิงคโปร์และฟินแลนด์ พวกเขากำหนดความมุ่งหมายของการศึกษาไว้อย่างไร และสอดคล้องกับสิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานแนวพระราชดำริไว้อย่างไร
วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญา บัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร มีใจความตอนหนึ่งว่า...ประเทศชาติของเราจะเจริญหรือเสื่อมลงนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชนแต่ละคนเป็นสำคัญ
"ผลการศึกษา อบรมในวันนี้จะเป็นเครื่องกำหนดอนาคตของชาติในวันข้างหน้า ท่านทั้งหลายจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านออกไปเป็นครู ท่านต้องพยายามทำหน้าที่ของท่านให้สำเร็จโดยสมบูรณ์"
ปี 1997 (พ.ศ. 2540) นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ (ในขณะนั้น) โก๊ะ จก ตง ประกาศวิสัยทัศน์ของกระทรวงศึกษาธิการในเรื่อง "Thinking Schools, Learning Nation" (TSLN) และเป็นที่มาของจุดมุ่งหมายให้ "การศึกษา" เป็นสิ่งหล่อหลอมอนาคตของชาติ (Molding the Future of the Nation) จัดการศึกษาเพื่อสร้างเด็กที่มีความเป็นผู้นำ มีความเป็นพลเมืองที่เอาธุระกับส่วนรวม ให้การเรียนรู้ที่ได้สมดุลรอบด้านแก่เด็ก ๆ ต้องพัฒนาเด็กให้เข้าถึงศักยภาพที่เต็มที่ของแต่ละคน ฟูมฟักให้เป็นพลเมืองที่ดี เป็นพลเมืองที่มีสำนึกถึงความรับผิดชอบต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตสถาบันเดิม มีใจความตอนหนึ่งว่า...การให้การศึกษานั้น กล่าวโดยจุดประสงค์ที่แท้จริง คือการสร้างสรรค์ความรู้ ความคิด พร้อมทั้งคุณสมบัติและจิตใจที่สมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล เพื่อช่วยให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและราบรื่น ทั้งสามารถบำเพ็ญประโยชน์สุขเพื่อตน เพื่อส่วนรวมได้ตามควรแก่อัตภาพ ผู้ทำหน้าที่ด้านการศึกษาทุกฝ่ายทุกระดับ ควรจะได้มุ่งทำงานเพื่อวัตถุประสงค์นี้ยิ่งกว่าสิ่งใด
ปี 1970-1980 (พ.ศ. 2513-2523) ฟินแลนด์มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องการศึกษา โดยเปลี่ยนจุดมุ่งหมายจัด "การศึกษา" เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมด้วยโครงสร้าง ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น และจัดการศึกษาเพื่อให้เด็กทุกคนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพของตน (Equity, Flexible Structures and High Level Education to all)
พระบรมราโชวาทของในหลวงทั้ง 2 เรื่อง เมื่อ พ.ศ. 2508 และ 2515 สะท้อนแนวพระราชดำริที่ลึกซึ้ง ล้ำสมัย ที่พระราชทานให้แก่เราชาวไทยมาล่วงหน้า เป็นทิศทางเดียวกับที่ทั้งสองประเทศใช้เป็นความมุ่งหมายในการจัดการ ศึกษา...พัฒนาอย่างมุ่งมั่นจนเป็นประเทศชั้นนำเรื่องการศึกษาในปัจจุบัน
พ.ศ. 2557 ประเทศไทยใน "วาระแห่งการปฏิรูปการศึกษาเพื่อการปฏิรูปประเทศ" ร่างแผนการแนวทางปฏิรูปการศึกษา (2558-2564) ของกระทรวงศึกษาธิการ ระบุเป้าหมายการศึกษาเพื่อให้คนไทย คือ 1) เป็นคนดี 2) มีความรู้ ความสามารถ 3) สมานฉันท์ 4) มีศักยภาพในการแข่งขัน 5) สามารถสื่อสาร 6) คิด วิเคราะห์ 7) แก้ปัญหาอย่างมีเหตุมีผล 8) มีคุณธรรม จริยธรรม 9) มีจิตสาธารณะ 10) มีระเบียบวินัย 11) เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม 12) ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย 13) รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 14) มีค่านิยมภูมิใจในความเป็นไทย และ 15) สามารถก้าวทันโลก
หากท่านลองพิจารณาความเหมือนและความต่างในสาระทั้งปวงที่ผมนำเสนอ คำสำคัญที่ปรากฏอยู่ในเรื่องการจัดการศึกษาของฟินแลนด์และสิงคโปร์ คือการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม การพัฒนาเด็กให้เต็มศักยภาพของแต่ละคน การเรียนรู้อย่างสมดุล ความเป็นพลเมืองของสังคมและชาติ และการเป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศ
สิ่งที่ต่างคือสิงคโปร์จะเน้นที่ความเป็นพลเมืองของชาติ และหล่อหลอมทรัพยากรที่มีคุณค่าสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต ในขณะที่ฟินแลนด์เน้นระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนได้ไม่ว่าจะอายุเท่าใด ให้ความสำคัญในการเรียนตามศักยภาพสูงสุดของแต่ละคน
หันกลับมาเปรียบ เทียบกับไทย เป็นที่น่าสังเกตว่า เราระบุเป้าหมายคนไทยให้มีคุณลักษณะย่อยถึง 15 ประการ เปรียบคล้ายกับการผลิตสินค้าโดยใช้ 15 ชิ้นส่วนย่อยมาประกอบกันโดยมิได้แสดงให้เห็นว่าแต่ละส่วนเชื่อมโยงสัมพันธ์ เป็นระบบอย่างไร ผมได้แต่ตั้งคำถามในใจว่า หากเราวางแนวทางการปฏิรูปไว้เช่นนี้
เราจะได้คนไทยอย่างที่เราหวังหรือไม่ ?
เพราะในความเป็นจริง เด็กแต่ละคนก็มีความเก่งและศักยภาพในเรื่องที่แตกต่างกัน แล้วเราจะทำอย่างไรให้เขามีคุณสมบัติทั้งหมดนั้นตามที่เราหวัง เรามีจุดมุ่งหมายรวมที่ชัดเจนแล้วหรือยัง
เราปฏิรูปการศึกษาเพื่ออะไร ?
หากเป้าหมายมีแต่เรื่องรายละเอียด หากไม่ได้มองกระบวนการหล่อหลอมเด็ก ๆ ที่เป็นระบบ หากต่างคนต่างคิดแล้วเอาแต่เพียงคีย์เวิร์ดมาปะติดปะต่อกัน การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จะเป็นอย่างไร....ผมเว้นไว้ให้คุณเติมคำตอบเอง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 27 ธ.ค. 2557