คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com
ผมเพิ่งไปบรรยายหลักสูตร Public Training ให้กับบริษัทจัดฝึกอบรมแห่งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ และมีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ประสานงานฝึกอบรมของบริษัท เธอเล่าให้ฟังว่า...เมื่อสองเดือนก่อนหน้านี้เธอเพิ่งจบปริญญาตรีมาหมาด ๆ และได้ไปทำงานกับบริษัทที่ทำธุรกิจเครื่องหนังส่งออกมียี่ห้อแห่งหนึ่งแถว ๆ สุขุมวิท ซึ่งทำได้ประมาณเดือนครึ่งก็ตัดสินใจลาออก
เธอจึงเล่าให้ฟังว่าสาเหตุที่ลาออก เพราะบริษัทดังกล่าวมีการปฏิบัติต่อพนักงานใหม่อย่างเธอ ดังนี้
1.บริษัทรับเข้าทำงานตำแหน่งพนักงานประจำสำนักงานดูแลงานธุรการทั่วไปในสำนักงาน แต่บริษัทมีเงื่อนไขว่าจะต้องหักเงินค้ำประกันความเสียหายในการทำงาน 3,000 บาท โดยหักจากเงินเดือนในเดือนแรกเต็มจำนวน
2.เธอเซ็นสัญญาจ้างใน ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการสำนักงานกับบริษัท เวลาทำงาน 08.00-17.00 น. เมื่อเธอขอสำเนาสัญญาจ้าง ฝ่ายบุคคลปฏิเสธไม่ยอมให้สัญญาจ้าง และบอกว่าสัญญาจ้างเป็นความลับต้องเก็บไว้ที่บริษัท
3.เมื่อทำงานไปประมาณเกือบเดือน ผู้บริหารก็สั่งให้เธอไปออกงานอีเวนต์ขายกระเป๋า, เครื่องหนังของบริษัทที่ศูนย์แสดงสินค้าชื่อดังแถว ๆ แจ้งวัฒนะ ซึ่งไกลจากที่ทำงาน (แถวสุขุมวิท) แถมไปขายเกินเวลาจนถึงประมาณสี่ทุ่มโดยบริษัทไม่ได้มีการจ่ายค่าล่วงเวลา และบอกว่าเป็นงานที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำ
ถ้าไม่ทำจะถือว่าขัดคำ สั่งของบริษัท สรุปคือให้ไปขายสินค้าให้กับบริษัท 5 วันไม่ได้โอทีเลยแม้แต่วันเดียว แถมไม่มีค่าพาหนะเดินทางอะไรให้เลย
4.หลังจากขายของครบ 5 วันแล้วไม่ได้โอที เธอจึงตัดสินใจลาออก ซึ่งก็เขียนใบลาออกส่งให้กับหัวหน้า แต่หัวหน้าบอกว่าไม่อนุมัติการลาออก โดยอ้างว่าตามระเบียบของบริษัทจะต้องให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติเสีย ก่อนถึงจะลาออกได้ ดังนั้น ถ้าเธอจะลาออกบริษัทจะยึดเงินค้ำประกันการทำงาน 3,000 บาท เพราะถือว่าทำให้บริษัทเสียหายหาคนมาแทนไม่ทัน
แต่น้องคนนี้แกก็ตัดสินใจลาออก โดยยอมให้บริษัทยึดเงินค้ำประกัน 3,000 บาท นะครับ เพราะเชื่อที่บริษัทบอกว่าบริษัทมีสิทธิ์หักได้ แต่แกถามผมว่า...ที่จริงแล้วบริษัทมีสิทธิ์จะยึดเงินค้ำประกันไว้ตามระเบียบ ที่บริษัทกล่าวอ้างหรือไม่ ?
1.บริษัทไม่มีสิทธิ์ที่จะหักเงินค้ำประกันการทำงานตั้งแต่แรกแล้วนะครับ เพราะตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) ปี 2551 ระบุไว้ในมาตรา 10 ระบุไว้ชัดเจนว่า "....ห้ามมิให้นายจ้างเรียก หรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะ หรือสภาพงานที่ทำนั้น ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้...."
จะเห็นได้ว่ากรณีของน้องคนนี้เธอไม่ได้ทำงานที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ หรือทรัพย์สินของบริษัทอะไรเลย
ดังนั้น ถ้าท่านไปสมัครงาน และบริษัทนั้นเรียกเงินค้ำประกัน (หรือแม้แต่จะให้หาคนมาค้ำประกัน) ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงิน หรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ ผมว่าท่านควรคิดดูให้ดี ๆ ว่าเราควรจะทำงานกับบริษัทที่ส่อเจตนาทำผิดกฎหมายแรงงาน และเอาเปรียบพนักงาน ตั้งแต่แรกแบบนี้หรือไม่
2.สัญญาจ้างงานไม่ใช่ ความลับตามที่ฝ่ายบุคคล (ซึ่งผมมั่นใจว่าต้องไม่ใช่ฝ่ายบุคคลมืออาชีพอย่างแน่นอน เพราะคนที่เป็นมืออาชีพ HR จะต้องไม่พูดอย่างนี้) กล่าวอ้าง ซึ่งหากเป็นมืออาชีพควรจะให้สำเนาสัญญาจ้างกับพนักงานใหม่ด้วย เพื่อยืนยันเงื่อนไขสภาพการจ้างอย่างโปร่งใสชัดเจน ซึ่งผมไม่เห็นว่าการให้สำเนาสัญญาจ้างกับพนักงานใหม่จะเป็นเรื่องลับอะไรเลย
3.การที่บริษัทสั่งให้ไปทำงานออกอีเวนต์ จนเลยเวลาทำงานปกติแล้วไม่ให้ค่าล่วงเวลาก็ผิดกฎหมายแรงงานอีกด้วย แถมยังมาอ้างว่าถ้าไม่ไปทำจะถือว่าขัดคำสั่งบริษัท กรณีนี้หากไม่ไปทำงานออกอีเวนต์ก็ไม่ถือว่าขัดคำสั่งนายจ้างนะครับ เพราะงานของน้องคนนี้เป็นงานธุรการทั่วไปไม่มีหน้าที่ไปออกอีเวนต์ขายของ ซึ่งเป็นงานของฝ่ายขายครับ
ผมถึงบอกว่าคนที่ทำฝ่ายบุคคลบริษัทแห่ง นี้คงเป็นใครสักคนที่บริษัทเป็นคนอุปโลกน์ให้ว่าเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลแบบ กลวง ๆ ที่ไม่ใช่มืออาชีพ ซึ่งคนพวกนี้แหละครับที่ทำให้พนักงานอื่น ๆ มองคนที่ทำงานฝ่ายบุคคลในแง่เสียหาย
มองว่า HR เป็นพวกที่ชอบเอาเปรียบพนักงาน พวกบ้าอำนาจ ฯลฯ
ซึ่งผมว่าท่านที่เป็น HR มืออาชีพควรจะต้องนำกรณีที่ผมเล่ามานี้เพื่อเตือนใจตัวเองไม่ให้มีพฤติกรรมทำนองนี้ด้วยนะครับ
4.ผมเคยพูดไว้หลายครั้งแล้วว่า "การลาออกเป็นสิทธิ์ของลูกจ้าง" เมื่อพนักงานยื่นใบลาออก และระบุว่าการลาออกจะมีผลตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ การลาออกจะมีผลตามวันที่ระบุไว้ โดยไม่ต้องรอว่านายจ้างจะอนุมัติหรือไม่ (แต่การเป็นพนักงานที่ดีก็ควรทำตามระเบียบบริษัทซึ่งส่วนใหญ่ก็จะให้ยื่น ล่วงหน้า 30 วัน)
แต่กรณีบริษัทที่มีพฤติกรรมแบบนี้ที่มาอ้างว่าการ ลาออกต้องทำตามระเบียบคือให้ผู้บริหารอนุมัติเสียก่อนถึงจะลาออกได้ อ้างแบบนี้ก็ผิดแล้วล่ะครับ แถมมายึดเงินค้ำประกันไว้ 3,000 บาทไม่ยอมจ่ายคืนเสียอีก
ทั้ง ๆ ที่พนักงานก็ไม่ได้ทำอะไรให้บริษัทเสียหายเลย
ผมบอกน้องคนนี้ไปว่าถ้าไปร้องเรียนกับแรงงานเขตพื้นที่หรือไปฟ้องศาลแรงงานล่ะ ได้คืนแน่ ๆ แถมยังจะได้ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดชำระอีกร้อยละสิบห้าต่อปีต่างหาก แต่น้องเขาก็บอกว่าไม่อยากเสียเวลาไปศาล ก็เลยปล่อยให้บริษัทขี้โกงรายนี้เอาเปรียบลูกจ้างหน้าใหม่รายอื่นอีกต่อไป
ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ เพื่ออยากจะฝากข้อเตือนใจถึง HR มืออาชีพทุกท่านได้ทราบไว้เป็นข้อคิด และเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ซึ่งจำเป็นจะต้องให้ความรู้กับผู้บริหารระดับสูงของบริษัททราบด้วยว่าการ กระทำอะไรบ้างที่ผิดกฎหมายแรงงานเป็นการเอาเปรียบพนักงาน
เพราะหากทำไปแล้ว จะทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกในทางลบกับบริษัท หรือจะเกิดปัญหากับบริษัทในอนาคต ซึ่งการเป็น HR มืออาชีพจำเป็นจะต้องกล้าพูดความจริง และทำในสิ่งที่ถูกต้องครับ
ขอบคุณที่มาจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์