Advertisement
คำขอโทษ...
ข้าพเจ้าพบบทความนี้เข้า เห็นว่าน่าใจเป็นอย่างมาก จึงนำมาฝากเพื่อน ๆ ที่ยังไม่เคยอ่านกัน และคิดว่า
คงจะช่วยเตือนสติเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ในยุคปัจจุบันอย่างเราๆ ได้เป็นอย่างดี โปรดอ่านด้วยใจเป็นธรรม
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 นายกรัฐมนตรีคนใหม่แห่งออสเตรเลีย เควิน รัดด์ กล่าวคำแถลงการณ์ต่อรัฐสภา ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ เป็นคำกล่าวขอโทษต่อชาวพื้นเมืองแห่งออสเตรเลีย ต่อความผิดพลาดของบรรพบุรุษชาวผิวขาว
เป็นนาทีประวัติศาสตร์ หลังจากที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ของออสเตรเลียพยายามเลี่ยงหนีประเด็นนี้มาโดยตลอด
ชาวออสเตรเลียทั้งชาติฟังคำขอโทษนี้ด้วยความรู้สึกท่วมท้น
"วันนี้เราสดุดีชนพื้นเมืองแห่งแผ่นดินนี้ วัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งยังสืบสานอยู่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
เรายอมรับการปฏิบัติที่มิชอบต่อพวกเขา
เรายอมรับโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องกับ 'คนรุ่นที่ถูกขโมย' บทที่มีรอยแผลในประวัติศาสตร์ชาติของเรา
เวลาได้มาถึงแล้วสำหรับชาติที่จะพลิกหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย โดยการแก้ไขสิ่งที่ผิดในอดีตให้ถูกต้อง และดังนี้ จึงก้าวต่อไปอย่างมั่นใจในอนาคต..."
ชาวพื้นเมืองแห่งทวีปออสเตรเลียประกอบด้วยชาวอะบอริจินส์และชาวเกาะ ทอร์เรส สเตรต
บรรพบุรุษของพวกเขาตั้งรกรากในทวีปนี้มาตั้งแต่ห้าหมื่นปีก่อน นานก่อนหน้าอารยธรรมของมนุษย์
ก่อนที่ผู้อพยพชาวอังกฤษจะรุกยึดทวีปออสเตรเลียในปี ค.ศ. 1788 ออสเตรเลียทั้งทวีปเป็นบ้านของชาวพื้นเมืองราว 318,000-750,000 คน เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการขึ้นฝั่งของชาวยุโรป โรคภัยที่ผู้มาเยือนนำมาด้วยฆ่าชาวพื้นเมืองตายไปอย่างรวดเร็ว เฉพาะในพื้นที่ซิดนีย์โรคฝีดาษฆ่าชาวพื้นเมืองกว่าครึ่งหนึ่ง
แล้วแขกที่ไม่ได้รับเชิญก็ยึดครองดินแดนของพวกพื้นเมืองด้วยอาวุธ ภายในทศวรรษ 1870 พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ก็ถูกชาวผิวขาวยึดครองจนหมดสิ้น
โรคภัย การเสียดินแดน และการสังหารหมู่ทำให้ชาวพื้นเมืองแห่งทวีปในซีกโลกใต้นี้ลดลงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี ค.ศ. 1788-1900 ชาวพื้นเมืองจำนวนหนึ่งทำงานเป็นกรรมกรให้ชาวผิวขาว เมื่อปฏิทินอะบอริจินส์พลิกถึงต้นศตวรรษที่ 20 ชาวพื้นเมืองก็เหลือเพียงราว 150,000 คน
ปัจจุบันมีชาวอะบอริจีนส์จำนวนไม่ถึงครึ่งล้านคน เท่ากับสองเปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดของออสเตรเลีย
"เราขอโทษสำหรับกฎหมายและนโยบายต่างๆ ของหลายๆ รัฐสภาและรัฐบาลที่ก่อให้เกิดความระทม ความลำบาก และการสูญเสียอย่างยิ่งยวดต่อเพื่อนชาวออสเตรเลียของเรา
เราขอโทษโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการพรากชาวอะบอริจินส์ และเด็กๆ ชาวเกาะ ทอร์เรส สเตรต จากครอบครัวของพวกเขา ชุมชนของพวกเขา และประเทศของพวกเขา
สำหรับความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน และความบาดเจ็บของคนรุ่นที่ถูกขโมยนี้ ลูกหลานของพวกเขา และครอบครัวที่พวกเขาทิ้งไว้ข้างหลัง เราขอกล่าวคำขอโทษ
สำหรับมารดาและบิดาทั้งหลาย พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาวทั้งหลาย ในการพรากครอบครัวและชุมชน เราขอกล่าวคำขอโทษ
และสำหรับการสูญเสียศักดิ์ศรี กับการลดคุณค่าลงแห่งประชาชนและวัฒนธรรมที่น่าภูมิใจ เราขอกล่าวคำขอโทษ เรา - รัฐสภาแห่งออสเตรเลีย ขอร้องด้วยความเคารพให้รับคำขอโทษนี้ในดวงจิต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาชาติ..."
ในช่วงปี ค.ศ. 1869-1969 ภายใต้กฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่ต่อต้านชาวอะบอริจินส์ เด็กชาวพื้นเมืองจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกผสม ถูกพรากจากอกพ่อแม่ไปอยู่ในสถานที่รัฐจัดตั้ง รวมถึงสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า โดยที่พ่อแม่ของเด็กไม่มีสิทธิ์คัดค้าน เด็กเหล่านี้เป็นที่รู้จักชื่อ The Stolen Generations (คนรุ่นที่ถูกขโมย) ประมาณตัวเลขไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนคน พวกเขาถูกห้ามไม่ให้พูดภาษาพื้นเมือง ถูกเลี้ยงมาให้เติบโตเป็นแรงงาน น้อยคนจะก้าวพ้นหนทางชีวิตที่มืดมนและความยากไร้
น่าแปลกที่สาธารณชนไม่ได้รับรู้เรื่องนี้จนถึงทศวรรษที่ 1980
การค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคนรุ่นที่ถูกขโมยเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1995 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาค จนถึงปี ค.ศ. 1997 รายงานชื่อ Bringing Them Home : Report of the National Inquiry into the Seperation of Aboriginal and Torres Strait Islander Children from Their Families ก็ได้รับการเผยแพร่ คณะกรรมการที่จัดหาความจริงในเรื่องนี้เสนอให้รัฐบาลออสเตรเลียยุค จอห์น โฮเวิร์ด ขอโทษต่อชาวพื้นเมือง ข้อเสนอดังกล่าวถูกสลัดทิ้งอย่างไร้เยื่อใย นายกรัฐมนตรียุคนั้นกล่าวว่า "ชาวออสเตรเลียรุ่นนี้ไม่สมควรต้องถูกบังคับให้ยอมรับความผิดของการกระทำและนโยบายในอดีต"
มิก ดอดสัน หนึ่งในคณะกรรมการคนหนึ่งลาออกจากสภาการประสานสัมพันธ์ชาวอะบอริจินส์ เขากล่าวว่า "ข้าพเจ้าสิ้นหวังต่อประเทศของข้าพเจ้า และเสียใจต่อความไม่แยแสของผู้นำทางการเมืองผู้ซึ่งไม่ยินดีกับสิ่งที่จำเป็นในการฟื้นฟูเราในฐานะชาติ"
"วันนี้เราย่างก้าวแรกออกไป โดยการยอมรับอดีตและแผ้วทางสู่อนาคตที่หลอมรวมชาวออสเตรเลียทั้งปวง
อนาคตซึ่งรัฐสภานี้ตั้งหลักการว่า ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในอดีตจะไม่มีวันเกิดขึ้นอีก
อนาคตซึ่งเราวางความมุ่งมั่นว่าชาวออสเตรเลียทั้งปวง ทั้งชาวพื้นเมืองและไม่ใช่ชาวพื้นเมือง ปิดช่องว่างระหว่างเราในเรื่องคุณภาพชีวิตที่ยืนยาว การไปถึงจุดหมายทางการศึกษา และโอกาสทางเศรษฐกิจ
อนาคตซึ่งเราโอบอุ้มความเป็นไปได้ของหนทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา เพื่อสางปัญหาต่างๆ ที่วิธีการเก่าล้มเหลว
อนาคตซึ่งตั้งบนฐานของการเคารพต่อกัน การกระทำการด้วยกัน และความรับผิดชอบร่วมกัน
อนาคตซึ่งชาวออสเตรเลียทั้งมวล ไม่ว่าเผ่าพันธุ์ใด เสมอภาคกันอย่างแท้จริง เป็นคู่หูเท่าเทียมกัน ด้วยเดิมพันเท่ากันในการปั้นแต่งบทต่อไปในประวัติศาสตร์แห่งประเทศยิ่งใหญ่นี้ - ออสเตรเลีย"
ขณะที่น้ำตาไหลอาบใบหน้าของชาวออสเตรเลียทั้งสองเชื้อสายจำนวนมากมายระหว่างที่ฟังคำขอโทษนี้ ผมอดคิดถึงการทำร้ายและสังหารผู้บริสุทธิ์ในประวัติศาสตร์ของโลกและของเรามิได้ การสังหารชาวอินเดียนแดงเพื่อถางแผ่นดินใหม่แห่งอเมริกา การสังหารหมู่ยิวกว่าหกล้านคนโดยพวกนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การสังหารหมู่ชาวจีนกว่าสองแสนคนที่นานกิงโดยกองทัพญี่ปุ่น การสังหารหมู่พลเรือนโดยพวกเซอร์เบียในสงครามโคโซโว ไปจนถึงการสังหารหมู่ในแอฟริกา พม่า และในอีกหลายมุมโลกนับไม่ถ้วน
ข้างหลังบ้านเราเองก็มีเหตุการณ์อยุติธรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลอบสังหารผู้ค้านอำนาจรัฐในยุคอัศวินครองเมืองช่วงทศวรรษ 2490, การสังหารหมู่แห่ง หกตุลา, ฆาตกรรมแห่ง พฤษภาทมิฬ, นโยบายวิสามัญฆาตกรรมยาเสพติดที่ผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อ ฯลฯ
ใช่! เราก็มี 'คนรุ่นที่ถูกขโมย' มากมายที่ครอบครัวของพวกเขาไม่มีโอกาสพบกับพวกเขาอีกเลย มิหนำซ้ำคนบางคนบางกลุ่มยังโรยเกลือบนบาดแผลเหล่านั้นด้วยการบิดเบือนความจริงในอดีต กระทั่งปฏิเสธความคงอยู่ของความผิดพลาดเหล่านั้นอย่างหน้าตาเฉย
สองร้อยยี่สิบปีหลังจากความผิดพลาดครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ชาวพื้นเมืองแห่งออสเตรเลียได้ยินคำขอโทษจากลูกหลานของผู้ก่อความผิดเหล่านั้น
เราไม่เคยได้ยินคำขอโทษจากใคร!
เราได้ยินแต่ความเงียบ
บางที 'พวกเขา' อาจรู้สึกผิดและเลือกที่จะเงียบ หรือบางทีพวกเขาอาจไม่รู้สึกผิดและเงียบ!
บางทีพวกเขาไม่เคยและไม่มีวันเข้าใจว่า คำขอโทษที่จริงใจมีค่ามากกว่าการเลือกที่จะเงียบ ลืม หรือแก้ตัว คนเขลาเลือกที่จะเงียบ คนตาบอดเลือกที่จะลืม คนขลาดเอ่ยแต่คำแก้ตัว
ความกล้าหาญที่ยิ่งใหญ่ในโลกมิใช่การต่อสู้เลือดท่วมร่างกลางสมรภูมิ หากแต่คือความสามารถที่จะยืดอกยอมรับความผิดที่กระทำ และเอ่ยคำขอโทษ
>>>คำขอโทษอาจมาช้า แต่ไม่เคยสายเกินไป เพราะคำขอโทษเป็นทิพยโอสถในการเยียวยารักษาบาดแผลของสังคม เข้าใจและเรียนรู้บทเรียนที่ผิดพลาดในอดีต แล้วเดินหน้าต่อไป<<<
บทความโดย..........วินทร์ เลียววาริณ
ความฝันอันสูงสุด คือการได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์
สักครั้งหนึ่งในชีวิต(นี้) สาธุ..
วันที่ 27 มี.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,170 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,154 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,160 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,144 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,154 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,146 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,411 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,136 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 62,922 ครั้ง |
เปิดอ่าน 13,822 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,996 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,984 ครั้ง |
เปิดอ่าน 16,030 ครั้ง |
|
|