ใกล้ปลายปีแล้ว ใครยังไม่ได้ซื้อ RMF, LTF, ประกันชีวิต หรือ ประกันบำนาญ ก็คงต้องรีบหน่อยแล้วนะ ไม่งั้นเลยสิ้นปีไป ก็จะอด หมดสิทธิสำหรับการลดหย่อนปีนี้ไปนะ เพราะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เกณฑ์ในการรับรู้เงินได้ใช้เกณฑ์เงินสด คือ เงินสดรับเกิดปีไหนถือเป็นเงินได้ปีนั้น เงินสดจ่ายเกิดปีไหนถือเป็นรายจ่ายปีนั้น เงินที่เราจ่ายเพื่อซื้อไม่ว่าจะเป็น RMF, LTF, ประกันชีวิต หรือ ประกันบำนาญ ซื้อปีไหนก็จะถือเป็นค่าลดหย่อนปีนั้นไม่สามารถเอายอดซื้อปีหน้ามาเป็นค่าลดหย่อนในปีนี้ได้
ทีนี้มาถึงค่าลดหย่อนอันนึงที่หลายคนใช้สิทธิกันอยู่ แต่อาจยังงงๆในเงื่อนไขบางอย่าง ค่าลดหย่อนที่เราจะคุยกันวันนี้ คือ การหักลดหย่อนบุตร
การหักลดหย่อนบุตรตามกฎหมายให้หักสำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมของผู้มี เงินได้ รวมทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย โดยมีเงื่อนไขว่า
– ให้หักลดหย่อนบุตรคนละ 15,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน และให้หักได้เฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาอยู่ ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษาเฉพาะภายในประเทศให้ลดหย่อนเพื่อการศึกษาได้อีกคนละ 2,000 บาท หรือ
– เป็น ผู้เยาว์ หรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู
สรุปก็คือ ถ้าบุตรยังเรียนหนังสือในประเทศหักได้คนละ 17,000 บาท และหักได้จนกว่าบุตรถึงอายุ 25 ปี แต่ถ้าบุตรไม่ได้เรียนหนังสือ หักได้แค่ 15,000 บาท และหักได้เฉพาะตอนที่บุตรเป็นผู้เยาว์เท่านั้น คือ อายุไม่เกิน 20 ปี เว้นแต่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู ก็หักลดหย่อนได้เรื่อยๆ ไม่กำหนดอายุ
เงื่อนไขข้อหนึ่งที่หลายคนไม่ทราบ คือ ไม่ให้หักลดหย่อนสำหรับบุตรที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป โดยเงินได้ ดังกล่าวต้องไม่ใช่เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 ให้ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ สรุป คือ ถ้าปีไหนลูกมีเงินได้ 15,000 บาทขึ้นไป โดยเงินได้ดังกล่าวต้องไม่ใช่เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 ให้ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ปีนั้นเราก็จะไม่สามารถหักลดหย่อนลูกได้ ถ้าปีถัดไป ลูกมีเงินได้ไม่ถึง 15,000 บาท ก็หักลดหย่อนลูกได้เหมือนเดิม
เงื่อนไขอีกข้อ คือ การนับจำนวนบุตรให้นับเฉพาะ บุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุสูงสุดของบุตร โดยให้นับรวมทั้งบุตร ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการหักลดหย่อนด้วย ดังนั้น ถ้ามีบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่และไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิหักลดหย่อน ก็อาจทำให้พ่อแม่ไม่สามารถหักลดหย่อนบุตรได้ครบ 3 คนตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น มีบุตร 4 คน คนโตอายุ 30 ปี คนที่สองอายุ 22 ปี เรียนอยู่มหาวิทยาลัย คนที่สามอายุ 18 ปี เรียนอยู่มัธยมปลาย คนสุดท้องอายุ 3 เดือน กรณีนี้พ่อแม่จะหักลดหย่อนได้แค่ 2 คน เพราะเมื่อนับเรียงตามอายุ คือ คนโต คนที่สอง คนที่สาม ปรากฏว่าพ่อแม่ไม่มีสิทธิหักลดหย่อนคนโตเพราะอายุเกิน 25 ปี เลยเสียสิทธินี้ไปฟรีๆ คงหักได้เฉพาะคนที่สอง และคนที่สามเท่านั้น
เรื่องการศึกษา ก็มีคนสงสัย ถ้าลูกอยู่เนอร์สเซอรี่ สามารถนำมาหักลดหย่อนลูกและการศึกษาลูกได้หรือไม่
คำตอบคือ หักลดหย่อนลูก 15,000 บาทหักได้ แต่การหักลดหย่อนเพื่อการศึกษาของลูกจำนวน 2,000 บาท จะต้องเป็นการศึกษากับโรงเรียนหรือสถานศึกษาในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาของทางราชการหรือเอกชน ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นอุดมศึกษา และหากศึกษาอยู่ในชั้นอุดมศึกษา (อนุปริญญาขึ้นไป รวมถึงหลักสูตรเนติบัณฑิต) ต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี ดังนั้น ลูกที่อยู่เนอร์สเซอรี่ จึงสามารถหักลดหย่อนในฐานะลูกได้ 15,000 บาท แต่ไม่สามารถหักลดหย่อนเพื่อการศึกษาลูกจำนวน 2,000 บาท ได้ ตามมาตรา 47(1)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร
อีกคำถาม ก็คือ สมมติลูกเพิ่งจบการศึกษาระหว่างปีและไม่มีเงินได้ พ่อแม่สามารถหักลดหย่อนลูกในปีนั้นได้หรือไม่
คำตอบ คือ ได้ครับ แม้ว่าในปีนั้นลูกจะไม่ได้อยู่ระหว่างการศึกษาตลอดทั้งปีภาษีก็ตาม
ท่านที่สนใจบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆสำหรับเผยแพร่ใน face book ชื่อ SathitBovornsantisuth CFP เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ...ขอบคุณครับ
โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์ CFP
ขอบคุณที่มาจาก โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 ธันวาคม 2557